ประกันสุขภาพเหมาจ่าย รีวิว ก่อนซื้อต้องรู้อะไรบ้าง หลายคนอาจคิดว่าการทำประกันสุขภาพเหมาจ่ายเป็นเรื่องไกลตัว เราอาจจะไม่ได้เป็นผู้โชคร้ายในระยะเวลาอันใกล้นี้ แต่ก็นั่นแหละ เป็นเพราะเรื่องความไม่แน่นอนต่าง ๆ รวมไปถึงการจัดการความเสี่ยงในด้านสุขภาพ และการเงิน ทำให้ประกันสุขภาพเหมาจ่ายเป็นเครื่องมือที่ช่วยจัดการความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง
ก่อนที่คุณจะซื้อประกันสุขภาพเหมาจ่ายสักกรมธรรม์หนึ่ง เราอยากให้คุณรู้ก่อนซื้อว่า ต้องรู้อะไรบ้าง ในคอนเทนต์นี้จะช่วยให้คุณเลือกประกันสุขภาพได้อย่างเหมาะสมกับตัวคุณเองได้ดีขึ้น
ประกันสุขภาพเหมาจ่าย รีวิว ก่อนซื้อต้องรู้อะไรบ้าง
- สิ่งที่ต้องรู้ก่อนทำประกันสุขภาพเหมาจ่าย คือเครื่องมือจัดการความเสี่ยง ก่อนที่จะป่วย
- ประกันสุขภาพเหมาจ่าย รีวิว ซื้อที่บริษัทประกันชีวิต หรือบริษัทประกันวินาศภัย เลือกที่ไหนดี
- ดูโรงพยาบาลที่ใกล้บ้าน หรือโรงพยาบาลที่ต้องฝากผีฝากไข้ ว่าค่าห้องต่อคืนประมาณเท่าไร
- OPD ผู้ป่วยนอก กับ IPD ผู้ป่วยใน แบบไหนใช้กับประกันสุขภาพเหมาจ่ายได้บ้าง
- ราคาค่าเบี้ยจ่ายไหวไหม บอกตัวแทนไปเลยว่ามีเงินเท่านี้ ความคุ้มครองจะได้แผนไหน
- ค่าเบี้ยมีการปรับขึ้นไหม ตามอายุ
- แถลงภาวะอดีตที่เคยเจ็บป่วย โดยเฉพาะตอนที่เข้าโรงพยาบาลให้หมด อย่าปกปิด
- เลือกตัวแทนให้ดี มีชัยไปกว่าครึ่ง ในการทำ ประกันสุขภาพเหมาจ่าย รีวิว
- อ่านกรมธรรม์ให้ละเอียด สงสัยตรงไหนถามตัวแทน
- Fax Claim แฟกซ์เคลม การไม่ต้องสำรองจ่ายตลอดไป ไม่มีอยู่จริง ช่วยเรื่องความสะดวกอย่างหนึ่งเท่านั้น
- สรุป ประกันสุขภาพเหมาจ่าย รีวิว ก่อนซื้อต้องรู้อะไรบ้าง
สิ่งที่ต้องรู้ก่อนทำประกันสุขภาพเหมาจ่าย คือเครื่องมือจัดการความเสี่ยง ก่อนที่จะป่วย
ก่อนที่เราจะพูดถึงเรื่องประกันสุขภาพเหมาจ่ายว่าต้องดูอะไรบ้าง เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่าประกันคือเครื่องมือจัดการความเสี่ยงชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะประกันสุขภาพเหมาจ่ายนั้น จะช่วยทำให้เรารู้รายจ่ายได้ล่วงหน้า โดยจ่ายเงินเป็นก้อนเล็ก ๆ เมื่อเทียบกับกับความเสี่ยงในเรื่องของโรคภัย หรืออุบัติเหตุหนัก ๆ ที่อาจทำให้เราต้องรับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และมีค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่มากกว่าตามมา
เราจะไม่มีการคิดว่าการทำประกันสุขภาพเหมาจ่ายเป็นเรื่องของความคุ้มค่า ถามจริงมีใครอยากป่วยบ่อย ๆ เพื่อเข้าไปนอนโรงพยาบาลหรอ มันเป็นความทุกข์อย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นการทำประกันสุขภาพเหมาจ่าย ไม่ใช่เรื่องของความคุ้มค่าในการใช้งาน แต่เป็นเรื่องของการจัดการความเสี่ยงทางด้านการเงิน และสุขภาพด้วย
และอีกอย่างเพื่อให้เข้าใจเหมือนกัน การทำประกันสุขภาพเหมาจ่ายเป็นการประกันในเรื่องของก่อนที่จะเกิดโรค หรือก่อนที่จะเจ็บป่วยเท่านั้น แต่หลายคนยังมีความเข้าใจผิดอยู่ที่ว่า รอให้ป่วยก่อนค่อยซื้อประกันสุขภาพเหมาจ่าย ซึ่งแน่นอนว่าคนที่ป่วยมาแล้วอาจโดนบริษัทประกันปฏิเสธการรับทำประกันสุขภาพได้ หรือไม่ก็จะโดนค่าเบี้ยที่สูงมาก ๆ ตั้งแต่แรก หรือไม่รับประกันบางโรคที่เป็นมาก่อน ดังนั้น ประกันสุขภาพเหมาจ่ายควรจะทำตั้งแต่เรามีสุขภาพแข็งแรงจะเป็นเรื่องที่ดีกว่ามาก
ประกันสุขภาพเหมาจ่าย รีวิว ซื้อที่บริษัทประกันชีวิต หรือบริษัทประกันวินาศภัย เลือกที่ไหนดี

โดยปกติประกันสุขภาพเหมาจ่าย จะมีขาย 2 แบบด้วยกัน คือจากบริษัทประกันชีวิต ที่เราต้องมีประกันชีวิตสัญญาระยะยาวก่อน แล้วค่อยซื้อประกันสุขภาพเหมาจ่ายพ่วงกับประกันชีวิตแนบคู่กับสัญญาหลัก และแบบที่ 2 คือประกันสุขภาพเหมาจ่ายแบบไม่พ่วงประกันชีวิต ที่มักจะมาจากบริษัทประกันวินาศภัย ซึ่งเราเลือกได้ตามความต้องการ
ถ้าเราเลือกประกันสุขภาพเหมาจ่ายที่ต้องซื้อประกันชีวิตก่อน ก็จะมีเบี้ยประกันชีวิตเพิ่มเข้ามาด้วย ตรงนี้ใครที่ต้องการประกันชีวิตอยู่แล้วก็สามารถความคุ้มครองได้ตามที่เราต้องการได้ แต่แนะนำว่าให้เลือกตัวประกันชีวิตสัญญาหลักเป็นสัญญาตลอดชีพหรือคุ้มครองระยะยาว มากกว่าที่จะเป็นพวกประกันออมทรัพย์ หรือประกันระยะสั้น เนื่องจากว่า ประกันสุขภาพเหมาจ่ายจะพ่วงไปกับสัญญาประกันชีวิตหลัก ถ้าประกันชีวิตสัญญาหลักสั้น เช่นประกันออมทรัพย์ ที่คุ้มครอง 10 ปี แล้วซื้อประกับสุขภาพเหมาจ่ายพ่วงไปด้วย 10 ปีต่อมา ประกันออมทรัพย์หมดความคุ้มครอง ประกันสุขภาพเหมาจ่ายก็สิ้นสุดความคุ้มครองไปด้วยเช่นเดียวกัน และถ้าเกิดเราตอนนั้นป่วยขึ้นมาแล้ว จะทำประกันสุขภาพบริษัทไหนก็จะเป็นเรื่องยากขึ้นมาทันที เพราะเรามีประวัติการรักษาแล้ว อาจจะเจอเบี้ยที่แพงกว่าเดิม เพราะถือว่าเป็นสัญญาใหม่นั่นเอง เพราะฉะนั้นถ้าจะซื้อประกันสุขภาพเหมาจ่ายที่ต้องแนบกับประกันชีวิต ก็ให้เลือกประกันชีวิตแบบระยะเวลายาว ๆ คุ้มครองไปจนแก่ได้เลยก็จะดีมาก
และก็มีแบบประกันสุขภาพเหมาจ่ายที่ไม่ต้องพ่วงประกันชีวิต เพราะมาจากบริษัทประกันแบบวินาศภัย แบบนี้ก็จะไม่มีราคาประกันชีวิตพ่วงมาด้วยนั่นเอง
แต่ในเรื่องของการยกเลิกสัญญา การขึ้นเบี้ย ส่วนตัวจะไม่พูดถึงประเด็นนี้ เพราะไม่เคยมีประกันสุขภาพเหมาจ่ายแบบไม่พ่วงประกันชีวิต ยังไม่เคยถูกยกเลิกสัญญาจากประกันสุขภาพเหมาจ่าย จะมีก็การขึ้นเบี้ยตามปกติ ซึ่งขึ้นทุก ๆ 5 ปี เท่านั้น ดังนั้นในคอนเทนต์นี้จะพูดถึงประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้จากการซื้อประกันสุขภาพเหมาจ่ายแบบมีประกันชีวิตแนบมาเป็นสัญญาหลักด้วยเท่านั้น
ดูโรงพยาบาลที่ใกล้บ้าน หรือโรงพยาบาลที่ต้องฝากผีฝากไข้ ว่าค่าห้องต่อคืนประมาณเท่าไร
เราอยู่แถวไหน เราทำงานที่ไหนเป็นหลัก และมีโรงพยาบาลตรงไหนที่อยู่ใกล้ ๆ บ้าง ลองเข้าไปหาข้อมูลดู เช่นในเว็บไซต์โรงพยาบาลต่าง ๆ ว่ามีค่าห้องอยู่ที่ประมาณเท่าไร ซึ่งแนะนำเลยว่า เข้าไปดูที่เว็บไซต์ของแต่ละโรงพยาบาลว่า ค่าห้องขั้นต่ำอยู่ที่เท่าไร เป็นห้องแบบไหน ห้องเดี่ยวหรือห้องคู่ มีพร้อมด้านบริการอะไรบ้าง (บางทีอาจจะดูเวอร์ ๆ ว่านี่เลือกห้องโรงพยาบาลหรือโรงแรม แต่เอาเข้าจริง ๆ เป็นการเลือกห้องที่เราต้องการเมื่อยามเราเจ็บป่วย และเลือกราคาตามที่เหมาะสม) และสิ่งที่ควรจะพิจารณาไม่เพียงแต่ค่าห้องเท่านั้น แต่เป็นค่าเหล่านี้รวมไปด้วย เช่น
- ค่าห้อง
- ค่าอาหาร
- ค่าบริการในโรงพยาบาล
- ค่าบริการทางการพยาบาล
ทั้งหมดนี้อาจจะดูคล้าย ๆ กัน แต่แตกต่างกัน แล้วไปเทียบกันว่า ประกันสุขภาพเหมาจ่ายแผนที่เราต้องการนั้น ให้ค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าบริการในโรงพยาบาล ค่าบริการทางการพยาบาล เท่าไร กำหนดไว้อย่างไร เพราะบางทีจะเบิกได้ไม่เท่ากัน ต้องเช็คให้ดี จะได้ไม่ต้องมีส่วนต่าง หรือถ้ามีส่วนต่าง ก็จะมีเพียงเล็กน้อยตามที่เราได้วางแผนมาแล้วนั่นเอง
OPD ผู้ป่วยนอก กับ IPD ผู้ป่วยใน แบบไหนใช้กับประกันสุขภาพเหมาจ่ายได้บ้าง

ตรงนี้เอาจากความคิดเห็นส่วนตัว เราคิดว่าการทำประกันสุขภาพเหมาจ่ายเป็นเรื่องของจัดการความเสี่ยง สำหรับตัวเองนั้นการรักษาแบบผู้ป่วยนอกไม่ได้จำเป็นสำหรับตัวเอง เพราะนาน ๆ จะป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ ทีนึง และถ้าเป็นจริง ๆ การที่เรารักษาด้วยแบบผู้ป่วยนอกมักจะมีค่าใช้จ่ายที่ไม่มาก อย่างดีก็หลักพันบาท ตัวเองนั้นสามารถจัดการตรงนี้ได้อย่างไม่มีปัญหา เพราะถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงมากนัก
แต่สำหรับการแอดมิดเป็นผู้ป่วยใน IPD นั้นหนักกว่ามาก เพราะเป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ ที่เราไม่รู้เลยว่าจะเป็นเท่าไร มีค่าใช้จ่ายแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่ความหนักหนาของโรค ซึ่งเราอาจจะหมดเป็นแสนอาจจะเป็นล้านเลยก็ได้ ซึ่งตรงนี้แหละที่ตัวเองคิดว่าน่ากลัวกว่ามาก คืออยากได้รับบริการทางด้านการรักษาพยาบาลที่ดี พร้อมทั้งเป็นเครื่องมือจัดการความเสี่ยง ซึ่งประกันสุขภาพเหมาจ่ายทำให้เราคลายกังวลเรื่องของการป่วยหนักไปได้ เพราะแค่กังวลเรื่องของสุขภาพว่าแย่แล้ว ถ้าต้องมากังวลเรื่องการเงินอีกคือก็เท่ากับหนักกว่าเก่า
ดังนั้นส่วนตัวเราให้คุณค่าของการทำประกันสุขภาพเหมาจ่ายในด้านของการเป็นผู้ป่วยในมากกว่าผู้ป่วยนอก ซึ่งทำให้เราเลือกแผนที่ไม่มี OPD หรือถ้ามีให้ทำเพิ่มก็จะไม่ซื้อส่วนของ OPD เลย เพราะจะช่วยให้แผนประกันสุขภาพเหมาจ่ายของเรามีราคาที่ถูกลงต่อปีด้วย
ราคาค่าเบี้ยจ่ายไหวไหม บอกตัวแทนไปเลยว่ามีเงินเท่านี้ ความคุ้มครองจะได้แผนไหน
หลายคนที่ยังไม่เคยซื้อประกันสุขภาพเหมาจ่าย แนะนำว่าลองค้นหาแผนที่ต้องการก่อน ซึ่งข้อมูลข่าวสารในอินเทอร์เน็ตมีเยอะมาก ๆ เพื่อให้รู้ราคาแผนคร่าว ๆ ความคุ้มครองในเบื้องต้นว่าเป็นอย่างไร เอาโบรชัวร์มาเปรียบเทียบดู ซึ่งแต่ละค่ายนั้นก็มีความแตกต่างกัน
และเมื่อเราสนใจจริง ๆ ก็เริ่มหาตัวแทน และสอบถามโดยตรงเลยว่า เราอายุเท่านี้ เพศนี้ ต้องการประกันสุขภาพเหมาจ่าย มีเงินจ่ายต่อปีเท่านี้ ระบุไปเลย อย่าโยนหินถามทาง โดยที่เราไม่บอกงบประมาณ เพราะทางตัวแทนก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเรามีเงินเท่าไร แล้วทำตารางเสนอขายมาไม่ตอบโจทย์ เราก็ไม่เลือกอยู่ดี เพราะฉะนั้น บอกงบไปเลยดีที่สุด เพราะตัวแทนที่ดีและเก่ง เขาก็จะหาแผนที่เหมาะสมกับความต้องการของเราได้เสมอ (ยกเว้นแต่ว่างบมันน้อยไปมาก ๆ ก็อีกเรื่องละนะ)
ค่าเบี้ยมีการปรับขึ้นไหม ตามอายุ
ถ้าเป็นก่อนทำ ประกันสุขภาพเหมาจ่าย รีวิว ในช่วงอายุไม่มากในผู้ใหญ่ ค่าเบี้ยประกันสุขภาพจะน้อยกว่าคนที่อายุเยอะขึ้นแล้ว คือจริง เนื่องจากความเสี่ยงในด้านสุขภาพของคนอายุน้อย ก็จะน้อยไปด้วย
ส่วนหลังจากการทำประกันสุขภาพเหมาจ่ายไปแล้ว มักจะมีการขึ้นค่าเบี้ยประกันสุขภาพในทุก ๆ 5 ปี ส่วนมากจะเป็นเลขอายุที่ลงท้ายด้วย 1, 6 (ซึ่งผู้เขียนมีอายุ ที่ลงท้ายด้วย 6 ในปีนี้พอดี ค่าเบี้ยเฉพาะประกันสุขภาพขึ้นมาราว 11% จากเบี้ยปีก่อนหน้า) ดังนั้นในทุกครั้งที่เราอายุมากขึ้น ค่าเบี้ยก็จะค่อย ๆ ทยอยปรับขึ้นตาม ซึ่งตรงนี้ช่วงอายุน้อย ๆ จะไม่ค่อยมีผลเท่าไร แต่ถ้าเป็นช่วงอายุเยอะ ๆ ไปแล้ว ค่าเบี้ยจะปรับขึ้นสูงพอสมควร ดังนั้นควรวางแผนทางการเงินไว้ด้วย
แถลงภาวะอดีตที่เคยเจ็บป่วย โดยเฉพาะตอนที่เข้าโรงพยาบาลให้หมด อย่าปกปิด
อย่างที่กล่าวไปว่า การทำ ประกันสุขภาพเหมาจ่าย รีวิว คือการรับประกันก่อนที่จะเจ็บป่วย ดังนั้นในก่อนที่เราจะทำสัญญา จะมีช่องให้กรอกเรื่องของสุขภาพ ว่าเราเคยป่วยเป็นอะไร เข้าโรงพยาบาลเป็นเพราะอะไร ซึ่งจะมีกรอบระยะเวลาระบุไว้ว่ากี่ปียอนหลัง แนะนำว่าให้ใส่ไปให้หมดเท่าที่เราจำได้ ว่าเราป่วยเป็นอะไรบ้าง นอนโรงพยาบาลวันไหน เพราะเป็นการแสดงถึงหลักฐานให้ทางบริษัทประกันรับรู้ว่า เราแถลงให้คุณรับรู้แล้วนะ ถ้าคุณรับนั่นหมายความว่าคุณจะต้องรับเงื่อนไขอาการป่วยที่เราเคยแจ้งมาได้ แน่นอนว่าก็จะมีบางเคสที่ไม่รับ เพราะถือว่าเป็นโรคต่อเนื่อง หรือบางอย่างก็อาจโดนขึ้นค่าเบี้ยได้ แต่โรคที่เป็นแล้ว รักษาหาย ไม่ได้เป็นโรคแทรกซ้อนอะไรรุนแรง ก็มักจะทำประกันได้ ซึ่งในเคสของตัวเองก็มีการแถลงภาวะการเจ็บป่วยในอดีตไปเช่นกัน
ซึ่งเคสของผู้เขียนเองนั้นก็เคยป่วยเพราะติดเชื้อในกระแสเลือดมาก่อน จนกระทั่งต้องนอนโรงพยาบาลนานกว่า 5 วัน ซึ่งตอนนั้นได้เข้าโรงพยาบาลเอกชน แต่เป็นโรงพยาบาลเอกชนที่ราคาไม่ได้สูงมากนัก และตอนนั้นยังทำงานบริษัทอยู่ เลยมีประกันสังคมติดตัวไว้ ซึ่งโรงพยาบาลนี้สามารถเบิกด้วยประกันสังคมได้ จนกระทั่งรักษาหาย และได้ออกมาดูบิลค่ารักษา เจอไปราว ๆ 6x,xxx – 7x,xxx โดยประมาณ ซึ่งตอนนั้นจำได้ว่านอนห้องรวมด้วย และเพิ่งรู้ว่าค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลก็เอาเรื่องอยู่เหมือนกัน นี่ไม่ใช่โรงพยาบาลชั้นนำยังขนาดนี้ ถ้าเป็นโรงพยาบาลชั้นนำราคาคงพุ่งแน่นอน ถึงแม้ว่าจะเบิกประกันสังคมได้เกือบจะทั้งหมด แต่ก็ทำให้เราตระหนักได้ว่า ถ้าวันหนึ่งเราไม่มีประกันสังคมจะทำอย่างไร เราเจ็บป่วยมาเราจะไปไหน ถึงแม้ว่าจะมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่เราจะรอได้มั้ย เลยเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราตัดสินใจทำประกันสุขภาพเหมาจ่ายในเวลาต่อมา และถึงแม้ว่าเราจะไม่ทำงานประจำแล้ว แต่เราก็เปลี่ยนจากประกันสังคม ม.33 เป็น ม.39 แทน เรายังส่งเองอยู่ และยังช่วยในเรื่องของอาการเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ ของผู้ป่วยนอกได้ ทดแทนกับประกันสุขภาพเหมาจ่ายที่เราไม่ได้ซื้อแบบ OPD ไว้เลยด้วย นับว่าเป็นอะไรที่เข้าคู่กันดี
เลือกตัวแทนให้ดี มีชัยไปกว่าครึ่ง ในการทำ ประกันสุขภาพเหมาจ่าย รีวิว

ประกันสุขภาพเหมาจ่าย รีวิว ตัวแทนมีความสำคัญมาก ๆ เนื่องจากว่า ตัวแทนจะช่วยให้ดำเนินการเรื่องเอกสารต่าง ๆ และเป็นตัวกลางระหว่างเราและบริษํทประกันได้เป็นอย่างดี ส่วนตัวแนะนำว่าให้เลือกคนที่มีประสบการณ์อยู่ในสายนี้มาพอสมควร เพราะเรื่องของงานประกันมันเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญความรู้
ส่วนการเลือกตัวแทนที่ดีอีกอย่างคือพยายามเลือกจากความซื่อสัตย์ แบบที่เราบอกไว้ว่าเราต้องการแถลงการเจ็บป่วยที่เราเคยเป็นมา เค้าก็แนะนำเลยว่าให้เขียน เพราะจะได้สบายใจกับเรา และกับเขาด้วย และสุดท้าย เราก็สามารถทำประกันสุขภาพเหมาจ่ายได้ ถึงแม้จะแถลงเรื่องการเจ็บป่วยก่อนหน้ามาก็ตาม (แน่นอนว่าสมมติเราเจอตัวแทนที่บอกว่าไม่ต้องเขียนหรอก เราจะไม่ทำกับเค้าเลยนะ เพราะคิดว่าของแค่นี้ยังไม่บอก ในอนาคตเราโดนบริษัทประกันตรวจสอบย้อนหลังมาจะช่วยอะไรเราได้)
ซึ่งเราเคยเคลมอุบัติเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างแมวกัด (ประกันสุขภาพเหมาจ่ายของเรา ครอบคลุมเรื่องอุบัติเหตุ ภายใน 24 ชั่วโมงแรก และเป็นผู้ป่วยนอกที่เกิดจากอุบัติเหตุด้วย) อันนี้เราไปหาหมอเอง เคลมเอง ซึ่งทางโรงพยาบาลบอกว่าแบบนี้ไม่สามารถทำแฟกซ์เคลมได้ จำเป็นที่เราต้องสำรองเงินจ่ายไปก่อน (และแน่นอนว่าเราจ่ายด้วยบัตรเครดิต AEON Wellness Platinum ที่ได้เงินคืนจากการรูดที่โรงพยาบาล 5%) และเราได้นำใบเสร็จเคลมเองในแอพของบริษัทประกัน เมื่อบริษัทประกันรับเรื่อง ตัวแทนของเราโทรมาเลยว่าเราเป็นอะไรไหม เห็นว่ามีการเคลมเข้ามา เราก็เลยแจ้งกลับไปว่า เราไม่เป็นไร มันเป็นอุบัติเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ เราสามารถทำเคลมเองได้ ยังไงก็ขอบคุณมาก ๆ เท่านี้เราก็โอเคแล้ว รู้สึกว่าเค้าใส่ใจเราดี และก็แน่นอนว่าเคลมได้ตามปกติ รู้สึกของเราจะได้รับเงินโอนมาในบัญชีใน 7 วัน หลังจากทำเรื่องไป ก็ดีนะ ไม่ได้ยุ่งยากอะไรเลย
สำหรับใครที่ต้องการข้อมูล อยากได้ช่องทางการติดต่อตัวแทนของเรา สามารถติดต่อหลังไมค์มาได้ เรายินดีแนะนำเค้าให้ เพราะเรารู้สึกว่าเค้าดีกับเรามากจริง ๆ จนเราซื้อประกันบำนาญกับเค้าเพิ่มด้วย
อ่านกรมธรรม์ให้ละเอียด สงสัยตรงไหนถามตัวแทน
เมื่อทำประกันสุขภาพได้แล้ว ก็จะมีกรมธรรม์ส่งมา แนะนำเป็นอย่างยิ่งว่า ให้อ่าน ไม่ใช่แค่อ่านผ่าน ๆ แต่แนะนำให้อ่านแบบละเอียดว่ามีข้อมูลตรงไหนที่เราติดใจ หรือสงสัย หรือไม่เป็นไปตามข้อมูลที่เราได้รับก่อนหน้าทำประกันหรือไม่ สงสัยตรงไหน วงไว้ ถ่ายรูป สอบถามตัวแทนได้เลย ว่าหมายถึงอย่างไร ตรงนี้คือข้อจำกัดเป็นอย่างไร ทั้งหมดนี้เป็นหน้าที่ของตัวแทนอยู่แล้วที่จะต้องสามารถให้คำตอบเราได้บ้าง เพราะเกือบทุกอย่างนั้นยึดตามกรมธรรม์
Fax Claim แฟกซ์เคลม การไม่ต้องสำรองจ่ายตลอดไป ไม่มีอยู่จริง ช่วยเรื่องความสะดวกอย่างหนึ่งเท่านั้น
การทำ Fax Claim แฟกซ์เคลม คือการที่เราไม่ต้องสำรองออกเงินค่าใช้จ่ายไปก่อน โดยทางโรงพยาบาลจะติดต่อกับบริษัทประกันโดยตรง ซึ่งต้องบอกเลยว่าการที่โรงพยาบาล หรือบริษัทประกันปฏิเสธ ทำ Fax Claim ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ เพราะทางบริษัทประกันต้องทำการตรวจสอบก่อนก็มี หรือบางโรงพยาบาลไม่ได้เป็นคู่สัญญากับบริษัทประกัน ซึ่งเราจำเป็นที่จะต้องออกค่าใช้จ่ายไปก่อน ส่วนตัวถ้ารูดบัตรเครดิต เพราะว่าก็จะมีระยะเวลาการจ่ายออกไป ถ้าบริษัทประกันตรวจสอบ ก็มักจะโอนเงินให้ทันอยู่แล้ว ถ้าไม่ได้มีเคสที่ผิดปกติหรือใช้เวลานานมาก ๆ อาจจะต้องถามตัวแทนอีกที
ให้เรารู้ว่าว่าเพียงการทำ Fax Claim นั้น เกิดมาเพื่ออำนวยความสะดวกเฉย ๆ ซึ่งเราก็อยู่ในกลุ่มที่เน้นซื้อขายประกัน เจอหลายคนเข้าใจผิดในเรื่องนี้มาก ๆ โพสต์ประกาศว่าต้องการหาประกันสุขภาพที่ไม่ต้องสำรองจ่ายตลอด ซึ่งในความเป็นจริงแทบจะไม่มีเลย
สรุป ประกันสุขภาพเหมาจ่าย รีวิว ก่อนซื้อต้องรู้อะไรบ้าง
นี่เรียกได้ว่าเป็นการสรุปการก่อนการซื้อประกันสุขภาพเหมาจ่ายตามจากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนเอง ซึ่งบอกเลยว่าก่อนที่ผู้เขียนจะซื้อประกันสุขภาพเหมาจ่ายนั้น ได้ศึกษาหาข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประกันอยู่ไม่น้อย ว่าสหลักการเป็นอย่างไร ทำไมถึงต้องทำ ข้อจำกัดต่าง ๆ ทั้งหมดนี้เรียกได้ว่าทำเพื่อตัวเองในช่วงเวลานั้น ๆ ให้ตัวเองได้มีความรู้ก่อนที่จะไปซื้อประกันสุขภาพเหมาจ่าย และรู้สึกดีมากกว่าเดิม เมื่อได้เผยแพร่ความรู้ที่ตัวเองได้ศึกษามาเกี่ยวกับประกันสุขภาพเหมาจ่าย ให้กับหลายคนที่กำลังมองหาประกันสุขภาพเหมาจ่าย หวังว่าบทความคอนเทนต์นี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคน
ใครที่ต้องการซื้อประกันสุขภาพเหมาจ่ายแนะนำว่าให้เลือกแผนที่เหมาะกับตัวเอง มองเรื่องการจัดการความเสี่ยง สามารถชำระเบี้ยได้ไหวตามกำลังทรัพย์ที่ตัวเองมี เท่านี้ก็จะช่วยให้เราสบายใจกับเรื่องความเสี่ยงต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี