Emotional First Aid ซ่อมแซมสุขที่สึกหรอ รีวิวหนังสือที่ว่าด้วยการฮีลใจตนเอง เมื่อพบความบาดเจ็บทางใจ

1.2K

Emotional First Aid ซ่อมแซมสุขที่สึกหรอ รีวิวหนังสือที่ว่าด้วยการฮีลใจตนเอง อาการบาดเจ็บทางใจเป็นสิ่งที่เราอาจพบเจอได้ทั่วไป ทั้งเกิดขึ้นกับตัวเราเอง หรือเกิดกับคนรอบข้าง หนังสือเล่มนี้นั้นบอกวิธีที่เราจะพบกับอาการบาดเจ็บทางใจต่าง ๆ ที่เราพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่การถูกปฏิเสธ ความเหงา ความสูญเสีย ความล้มเหลว ฯลฯ และยังบอกวิธีฮีลใจตัวเองด้วยวิธีการที่ทำได้เอง และเห็นผลจริง ซึ่งอาการแต่ละแบบนั้นก็วิธีการฮีลใจตัวเองที่แตกต่างกัน

เคยรู้สึกกันไหมว่า เมื่อเราได้รับอาการบาดเจ็บทางด้านร่างกาย ร่างกายจะมีระบบกลไกที่จะช่วยสมานบาดแผลให้อาการดีขึ้นได้เอง เมื่อระยะเวลาที่ผ่านไป แต่ทว่าการบาดเจ็บทางใจนั้น ไม่เหมือนกับอาการบาดเจ็บทางด้านร่างกาย เนื่องจากเรามองไม่เห็น ไม่เห็นบาดแผลหรือไม่สามารถรับรู้ได้ถึงความรุนแรง ทำให้หลายคนได้ปล่อยอาการบาดเจ็บทางใจเอาไว้เนิ่นนาน ซึ่งกว่าจะได้รับการรักษาก็อาจจะถึงขั้นลุกลามไปแล้ว ในหนังสือเล่มนี้ได้เขียนอาการบาดเจ็บทางใจเอาไว้ 7 อย่างด้วยกัน ระบุอาการและวิธีฮีลใจเอาไว้เบื้องต้น ดังนี้

Emotional First Aid ซ่อมแซมสุขที่สึกหรอ รีวิวหนังสือที่ว่าด้วยการฮีลใจตนเอง

1.การถูกปฏิเสธ

รีวิว Emotional First Aid
The Perks of Being a Wallflower (2012)

เรียกได้ว่าเป็นบาดแผลทางใจที่สามารถพบเห็นได้ง่ายที่สุด หลายคนอาจคิดว่าการถูกปฏิเสธอาจเป็นบาดแผลในระดับแค่แผลถลอกเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วการถูกปฏิเสธนั้นมีหลายระดับด้วยกัน เราอาจพบได้ตั้งแต่เพื่อนไม่ชวนเราไปงานวันเกิด โดนกีดกันเมื่อต้องเข้าร่วมกับเพื่อนใหม่ การถูกปฏิเสธว่าสัมภาษณ์งานไม่ผ่านหรืออาจจะหายไปเลย หรือการที่ถูกปฏิเสธจากความรักที่เราได้สารภาพออกไป

หนทางการรักษา ฮีลใจเมื่อถูกปฏิเสธ

  • โต้แย้งการโทษตัวเอง
    เพื่อเป็นการป้องกันในการซ้ำเติมหรือโทษตัวเอง จำเป็นที่จะต้องหาข้อโต้แย้งโดยใช้มุมมองที่ใจดีกับตัวเรามากกว่าเดิม เพื่อสร้างความเข้าใจว่าทำไมเราถึงถูกปฏิเสธ เช่นถ้าสัมภาษณ์งานไม่ผ่าน ก็อาจใช้ข้อโต้แย้งที่ว่า ที่ทำงานนั้นอาจะไม่ได้เหมาะกับเรา

  • กอบกู้การเห็นคุณค่าของตัวเองขึ้นมา
    ให้เราเขียนคุณค่าที่เรานับถือขึ้นมา และลองคิดดูว่าคุณค่าเหล่านั้นเป็นอย่างไร ลองจัดลำดับถึงความสำคัญ ว่าทำไมคุณสมบัติเหล่านี้ถึงสำคัญต่อเรา และทำให้เราเป็นในทุกวันนี้ได้อย่างไร ทำให้เราฟื้นฟูจิตใจและเห็นคุณค่าของตัวเองมากขึ้นเมื่อถูกปฏิเสธนั่นเอง

  • ฟื้นฟูสายสัมพันธ์ทางสังคม
    เมื่อเราถูกปฏิเสธ เรามักมีแนวโน้มหลีกเลี่ยงการเข้าหาสังคมนั้น ๆ และลังเลเข้าหาการสร้างความสัมพันธ์ ซึ่งเราควรฟื้นฟูความสัมพันธ์ใหม่ เช่นลองเข้าหาสังคมใหม่ หางาอดิเรกหรือ Community อื่น ๆ  การเข้าหาสายสัมพันธ์ที่เข้ากันได้มากกว่า จะช่วยให้เราถูกยอมรับและลืมการถูกปฏิเสธในอดีตไปได้

  • ลดความอ่อนไหวของตัวเราเอง
    การถูกปฏิเสธในครั้งแรกอาจเป็นความเจ็บปวด แต่เมื่อเจอหลาย ๆ ครั้งความอ่อนไหวในตรงนี้ก็จะค่อย ๆ ลดลงไปเอง ถ้าเราสัมภาษณ์งานครั้งแรก แล้วไม่ได้รับคัดเลือก ก็เดินหน้าหาที่ต่อไป เมื่อไปที่ 3,4,5 อาการบาดเจ็บก็จะลดลง และในที่สุดเราก็จะมองว่ามันเป็นเรื่องปกติธรรมดาทั่วไป แต่แน่นอนว่าวิธีนี้จำเป็นที่จะต้องใช้อย่างเฉพาะเจาะลงและไม่บาดเจ็บสาหัสเท่านั้น

2.ความเหงา

Emotional First Aid ซ่อมแซมสุขที่สึกหรอ
Good Will Hunting (1997)

ถึงแม้ว่าโลกเราจะมี Social Media และทำให้ผู้คนติดต่อหากันง่ายขึ้น แต่คนจำนวนไม่น้อยที่มีความเหงากัดกินในหัวใจ ซึ่งความเหงานั้นไม่ได้บอกจำนวนของความสัมพันธ์ที่เรามีต่อผู้อื่น แต่เป็นการบอกระดับคุณภาพมากกว่า ถ้าหากเราปล่อยเอาไว้นาน ๆ ความเหงาจะกลายเป็นอาการเรื้อรัง ที่รักษาได้ยากขึ้น และทวีความรุนแรงขึ้นด้วย ดังนั้นถ้าอยากจะเยียวยาและบรรเทาความเหงา อาจทำได้วิธีดังต่อไปนี้

หนทางการบรรเทาความเหงา

  • ลดการมองโลกในแง่ร้ายลง
    ความเหงาทำให้เรามองโลกในแง่ร้ายและมีความคิดเชิงลบ อาจจะทำให้เราไม่อยากไปงานเลี้ยงรุ่น เพียงเพราะเราไม่อยากเจอใคร แต่ใจความเป็นจริงให้มองโลกอย่างเปิดใจว่า มีด้านร้ายก็ต้องมีด้านดีเป็นธรรมดา และเราสามารถใช้ประโยชน์จากมันได้ เราอาจพบเพื่อนเก่า ๆ ที่เราไม่ได้ติดต่อกันมานานแล้ว และอาจได้พูดคุยสานสัมพันธ์ในเรื่องวัยเด็ก ที่หาไม่ได้จากที่ไหน

  • หยุดพฤติกรรมซ้ำเติมของตัวเอง
    คนเหงามีแนวโน้มที่จะสานสัมพันธ์คนอื่นแบบระมัดระวัง แน่นอนว่าคนอื่นก็เห็นเราเป็นแบบนั้น เมื่อคนอื่นถอยออกจากความสัมพันธ์เราก็ทึกทักเอาว่าสิ่งที่เราทำนั้นถูกแล้ว ซึ่งเหล่านี้เรียกได้ว่าเป็นพฤติกรรมซ้ำเติมตัวเอง ลองดูว่ามีพฤติกรรมไหนบ้างที่เป็นพฤติกรรมซ้ำเติมตัวเอง และเรากำลังทำมันอยู่ ทำให้ดำดิ่งกับความเหงามากขึ้น เมื่อเรารู้ตัวแล้วก็ค่อยให้ลด หลีกเลี่ยง และหยุดพฤติกรรมเหล่านั้นทีละน้อย

  • มองจากมุมมองอีกฝ่าย
    เมื่อความเหงากัดกินใจของเรา ทำให้มุมมองของเราเปลี่ยนไป อาจเกิดการวางตัวไม่เหมาะสม อาจดูเฉยชา หรือกระตือรือร้นมากเกินไป บางครั้งทำให้เราตีความผิดชุดออกมาได้ ให้เราใช้มุมมองของอีกฝ่ายให้มาก ยกตัวอย่างเช่นการที่เราอ่านข้อความไลน์ที่เพื่อนเราส่งมา แค่ไม่มีหางเสียงพิมพ์มาด้วย ซึ่งอาจทำให้เราตีความใอมองจากมุมของเราได้ว่าไม่มีมารยาท หรือเราอาจใส่น้ำเสียงเข้าไปเองเมื่อเราอ่านก็ได้ แต่ถ้าเรามองจากมุมมองของอีกฝ่าย ก็อาจทำให้รู้ว่าการที่พิมพ์สั้น ๆ กะทัดรัด ไม่ได้ใส่หางเสียง เป็นเพราะว่ามันพิมพ์เร็วกว่านั่นเอง
  • กระชับและสร้างสายสัมพันธ์ทางอารมณ์ให้มากขึ้น
    การเข้าอกเข้าใจผู้อื่นนั้นเป็นคีย์หลักในข้อนี้ที่จะช่วยให้สายสัมพันธ์แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพียงแค่การมองจากมุมของผู้อื่นอาจไม่เพียงพอ หนทางที่จะช่วยได้นั่นคือเราต้องจินตการว่าเมื่อเราเป็นเขาและตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันที่กำลังเจออยู่ ทำให้เราเข้าใจบริบทหรือความคิดสั้น ๆ ของคนอื่นในช่วงเวลานั้น ทำให้เราเข้าอกเข้าใจผู้อื่นได้ดียิ่งขึ้น
  • ลองรับเพื่อนที่ดีที่สุดมาเลี้ยง
    สัตว์เลี้ยงนับว่าเป็นเพื่อนที่ดีในการลดและบรรเทาความเหงา อีกทั้งคนที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยงมักจะเหงาน้อยกว่าคนที่ไม่ได้เลี้ยง แน่นอนว่าโดยเฉพาะสุนัขที่ได้ชื่อว่าเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์ แต่ทว่าการเลี้ยงสุนัขอาจจะมีข้อจำกัดมากมาย เช่นอาจต้องพาไปเดินเล่น ซึ่งหลายคนอาจจะเลือกสัตว์เลี้ยงอย่างแมวก็ได้ ที่ไม่จำเป็นต้องพาไปเดินเล่นเหมือนสุนัข และช่วยบรรเทาความเหงาได้เหมือนกัน

3. ความสูญเสีย และเหตุการณ์สะเทือนใจ

หนังสือซ่อมแซมสุขที่สึกหรอ
Shutter Island (2010)

การสูญเสียนับว่าเป็นสิ่งที่สามารถหลีกเลี้ยงได้ ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียคนอันเป็นที่รัก คนในครอบครัว หรือแม้กระทั่งสัตว์เลี้ยง ทั้งหมดนี้สร้างบาดแผลทางใจได้อย่างร้ายกาจ และการเยียวยาไม่ใช่เรื่องง่าย หลายครั้งอาจต้องปล่อยให้เวลาช่วยรักษาแผลใจ แต่หลายคนไม่สามารถผ่านขั้นตอนตรงนี้ไปได้ ทำให้เกิดชีวิตคนที่ยังอยู่สะดุด ไม่เป็นอันที่จะทำอะไรอีกทั้งรวมไปถึง ความเชื่อ ตัวตน และความสัมพันธ์สะดุดเกือบทั้งหมดสำหรับคนที่ไม่สามารถก้าวผ่านการสูญเสียไปด้วย

วิธีบรรเทาเมื่อเกิดความสูญเสีย

  • กอบกู้สิ่งที่หายไปให้กลับคืนมา
    อย่างที่กล่าวไป ตัวตน ความสัมพันธ์ ความเชื่อ เมื่อเราเกิดความสูญเสียก็อาจจะหายไปได้โดยที่เราไม่รู้ตัว เช่น เมื่อเพื่อนของเราเสียชีวิตไป ทำให้เราเศร้ามาก และทำให้เราหลีกเลี่ยงการติดต่อเพื่อนของเพื่อนที่เสียชีวิต รวมถึงเพื่อนที่มีร่วมกันออกไปจนหมด เพราะทำให้เราคิดถึงเพื่อนคนนี้มาก ทำให้ความสัมพันธ์สะบั้นขาดหายไป แต่ของเหล่านี้สามารถกอบกู้ขึ้นมาได้ เพียงแค่เราอาจลองชวนเพื่อนของเพื่อนที่เสียชีวิตไปกินข้าว พูดเรื่องที่ดีต่อเพื่อนคนนั้น อาจทำให้เราคลายความเศร้าได้ และได้กอบกู้ความสัมพันธ์กลับคืนมาด้วย

  • การค้นพบความหมายจากการสูญเสีย
    ตรงนี้อาจจะเป็นวิธีที่ช่วยดูเหมือนมองโลกในแง่ดี แต่ช่วยให้เราก้าวผ่านความสูญเสียไปได้ โดยมองให้เห็นถึงเรื่องดีในเรื่องร้ายที่เกิดขึ้น เช่นเมื่อเกิดการสูญเสียญาติด้วยโรคร้าย ทำให้เราเล็งเห็นถึงการตระหนักรู้ถึงที่มาและสาเหตุของโรคนั้น ๆ ทำให้เราหมั่นเช็คร่างกายบ่อยขึ้น ทำให้เราจัดการกับอารมณ์ที่เจ็บปวดค่อย ๆ จางไป และทดแทนด้วยสิ่งที่เป็นเรื่องดีขึ้นมา

4. ความรู้สึกผิด

หนังสือฮีลใจ
Raw (2016)

ความรู้สึกผิด เป็นความหดหู่ทางอารมณ์ที่เกิดจาก ความเชื่อว่าเราได้ทำความผิด หรือทำร้ายอะไรสักอย่างให้กับผู้อื่น โดยเราอาจสร้างความขุ่นเคืองใจ ไม่สะดวกใจ ไม่สบายใจให้กับผู้อื่น ซึ่งความรู้สึกผิดนี้เอามักจะเกิดจากเมื่อเราจะทำบางอย่างที่ขัดต่อค่านิยมหรือมาตรฐานส่วนตัวของเรา หรืออาจเกิดจากเหตุการณ์ที่เกิดจากเราเป็นผู้รอดชีวิต เป็นความรู้สึกผิดที่เรารอดชีวิตออกมาได้ ซึ่งความรู้สึกผิดขนาดเล็กน้อยก็มีข้อดีคือช่วยควบคุมพฤติกรรมของเราให้อยู่ในร่องกับรอย รักษาความสัมพันธ์เอาไว้ได้ และความรู้สึกผิดก็มักจะหายไปอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าเป็นความรู้สึกผิดที่ร้าวลึกคอยกัดกินใจ อาจส่งผลเสียต่อตัวเราเองเป็นอย่างมาก ซึ่งวิธีบรรเทาสามารถทำได้ตามนี้

วิธีรักษาแผลใจเมื่อเกิดความรู้สึกผิด

  • ขอโทษอย่างจริงใจ และมีประสิทธิภาพ
    การขอโทษบุคคลที่เราที่เรารู้สึกผิดด้วย นับว่าเป็นวิธีที่ดี และใช้งานได้ไม่ยาก ทำให้ความรู้สึกผิดของเราจางหายไปในระยะเวลาที่รวดเร็ว โดยเราจำเป็นที่จะต้องแสดงความเสียใจที่เกิดขึ้น กล่าวคำขอโทษอย่างชัดเจน และคำขอให้อภัย ทั้งสามสิ่งนี้ต้องประกอบด้วยกันเสมอ ซึ่งวิธีนี้สามารถใช้งานได้เมื่อเกิดจากความผิดที่ไม่ได้ใหญ่หลวงนัก
     
  • ให้อภัยตัวเอง
    ความรู้สึกผิดที่มากไป ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิต การที่จะใช้วิธีนี้เป็นเรื่องที่ดีเมื่อเราไม่สามารถขอโทษได้ เช่นคนที่เรารู้สึกผิดได้จากไปแล้ว ไม่สามารถติดต่อได้ การให้อภัยตัวเองจะช่วยให้เราใช้ชีวิตได้อย่างตามปกติ ทำให้เรามีความสุขกับชีวิตได้ดียิ่งขึ้น และลดแนวโน้มการทำร้ายตัวเองลง

  • กลับไปใช้ชีวิต
    การกลับไปใช้ชีวิตจะดีก็ต่อเมื่อเรา รู้สึกผิดจากการที่เราไม่ได้ทำอะไรผิด เช่นความรู้สึกผิดที่เรารอดชีวิตจากเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งการรอดชีวิตนี้เอง อาจมีคำถามจากตัวเราได้ว่า ทำไมถึงเป็นเราที่รอดมาได้ แต่ใจความเป็นจริงคือ เราไม่ได้ทำอะไรผิดแม้แต่น้อย เหตุผลที่ดีที่สุดในการก้าวข้ามผ่านความรู้สึกผิดนี้คือช่วยลดการประณามตัวเอง และทำให้ความรู้สึกผิดนี้หายไป

5. การครุ่นคิด การคิดมาก

รีวิวหนังสือฮีลใจ
I Am Lying Now (2019)

การที่เราพบเหตุการณ์ที่ไม่ดีกับเราในอดีต ก็ย่อมมีโอกาสที่จะเกิดการครุ่นคิดเหตุการณ์เหล่านั้นย้อนกลับไป แน่นอนว่าการคิดย้อนกลับไปเล็ก ๆ น้อย ๆ คงไม่ได้เป็นอะไรมากนัก แต่ถ้าเราคิดแล้วคิดอีก จนกระทั่งกลายเป็นการคิดมาก ครุ่นคิดอยู่อย่างนั้น ก็เหมือนกับการเรามานั่งแกะแผลเก่า ให้บาดแผลมันเปิดอีกครั้งหนึ่ง ทำให้บาดแผลที่ใจเราไม่หายสักที ซึ่งบาดแผลทางใจจากการครุ่นคิดนั้นก็มีหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นการผลาญทรัพยากรด้านเวลา อารมณ์ และสติปัญญาอย่างสูญเปล่า ทำให้เราหดหู่  มองชีวิตในแง่ลบ ทำให้รู้สึกพึ่งตัวเองไม่ได้และหมดหวัง ซึ่งเราสามารถลดอาการครุ่นคิดได้

วิธีหยุดแกะสะเก็ดบาดแผลจากการครุ่นคิด

  • เปลี่ยนมุมมองของเรา
    โดยปกติแล้วการครุ่นคิดมักจะเกิดจากมุมมองของเราเอง ซึ่งเป็นมุมของของบุรุษที่หนึ่ง ในหนังสือหล่าวว่าให้เรามองในมุมที่ถอยออกมา โดยมองออกมาเป็นบุรุษที่ 3 แทน และจะช่วยให้เรามีระยะห่างจากเรื่องที่คิดมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อคิดถึงเรื่องราวที่เกิดความคิดมาก
  • เบี่ยงเบนความสนใจจากเรื่องที่ครุ่นคิดอยู่
    การเบี่ยงเบนความสนใจนับว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายมากพอสมควร ซึ่งวิธีการเบี่ยงเบนความสนใจของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน ไม่มีกฎที่ตายตัว บางกิจกรรมอาจได้ผลดีสำหรับบางคน แต่อีกคนอาจจะไม่ได้ผลก็ได้ บางคนอาจจะนั่งฟังเพลง หรืออ่านหนังสือก็สามารถเบี่ยงเบนความสนใจได้แล้ว แนะนำว่าลองหาวิธีการที่ได้ผลสำหรับตัวเอง และใช้บ่อย ๆ เมื่อเราเกิดการครุ่นคิดจะช่วยให้เบี่ยงเบนความสนใจออกไปได้
  • ทำตัวสบาย ๆ กับเพื่อน ๆ
    คนที่หมกมุ่นอยู่กับความคิด มีแนวโน้มสูงมาก ที่จะเกิดการเล่าเรื่อง หรือปัญหาเดิม ๆ ที่เราพบเจออยู่ให้กับคนใกล้ชิดฟัง โดยเฉพาะเพื่อน ๆ แน่นอนว่าถ้าเป็นครั้งสองครั้งก็คงจะเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าบ่อยมาก ๆ เข้าก็อาจจะทำให้เพื่อนของเรารู้สึกอึดอันใจ และส่งผลต่อความสัมพันธ์ แนะนำว่าให้ทำตัวตามสบายกับเพื่อน ๆ เข้าไว้ และลองคิดดูว่าเพื่อนที่เราคุยอยู่นี้สามารถรับเรื่องราวเหล่านี้ได้มากน้อยแค่ไหน

6. ความล้มเหลว

หนังสือ กายวินช์
The Florida Project (2017)

ความล้มเหลวเป็นสิ่งที่มนุษย์เผชิญได้ทั่วไป จะมากหรือน้อยก็ย่อมมีความแตกต่างกัน แต่ทว่าสิ่งที่ทำให้เราแตกต่างกันไม่ใช่การล้มเหลว แต่เป็นวิธีที่เรารับมือการล้มเหลวต่างหาก ซึ่งความล้มเหลวนั้นแตกต่างจากบาดแผลทางใจอื่น ๆ เพราะเพียงแค่การเกิดขึ้นครั้งเดียว ก็สามารถทำให้เราไม่สามารถรับมือได้อย่างทันท่วงที และเมื่อรักษาไม่ทันท่วงทีก็อาจทำให้เราเกิดภาวะแทรกซ้อนทางใจได้อีก ไม่ว่าจะเป็นความอับอาย ความรู้สึกที่พึ่งตัวเองไม่ได้ จนกระทั่งร้ายแรงเช่น ภาวะซึมเศร้าได้เลยทีเดียว

วิธีการรักษาและรับมือกับการล้มเหลว

  • การยอมรับความจริง และยอมรับการสนับสนุน
    สิ่งแรกที่เราควรจะตระหนักนั่นคือการยอมรับความจริง เพราะถ้าเราไม่สามารถรับความจริงได้ จะทำให้เราปฏิเสธข้อเสนอในการยอมรับการช่วยเหลือจากผู้อื่น หรือไม่แม้กระทั่งที่จะมองข้อดีที่เกิดความล้มเหลวนี้ แต่ถ้าเรายอมรับความจริงได้ง่ายขึ้น ตัวเราเองก็มีโอกาสรับข้อเสนอในการช่วยเหลือจากคนอื่นได้ง่ายขึ้น และจะช่วยให้เราบรรเทาอาการบากเจ็บจากการล้มเหลวได้ด้วย

  • ให้เน้นกับเรื่องที่ควบคุมได้
    การล้มเหลวบางอย่าง ก็เป็นเรื่องที่เราไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด 100% ซึ่งมีโอกาสที่ทำให้เราโทษตัวเอง และไม่เกิดความพยายามในครั้งต่อไป ทำให้เราถอดใจในเวลาที่รวดเร็วเกินไป แต่ถ้าเราโฟกัสกับบางอย่างที่เราควบคุมได้ จะช่วยส่งผลดีให้เรามองในเรื่องของความหวังมากขึ้น เพิ่มแรงจูงใจให้เรามากขึ้น
  • จัดการความกลัวและยอมรับความผิดพลาด
    เมื่อเราล้มเหลว ก็จะเกิดความกลัวต่าง ๆ ตามมา โดยเฉพาะความกลัวที่จะเกิดการล้มเหลวเหมือนกันอีก ดังนั้นการที่จะขจัดความกลัวออกไปได้ คือการที่เราต้องยอมรับความผิดพลาดในบางอย่างก่อน ทำให้เราค่อย ๆ ควบคุมความกลัวให้ได้ลดลง และเคยชินกับความกลัวนั้น และทำให้เราดำเนินชีวิตต่อไปได้โดยที่ความกลัวลดลง

7. ความเคารพในตัวเองต่ำ

หนังสือ Guy Winch
V for Vendetta (2005)

การเคารพตัวเองต่ำนั้นเปรียบเสมือที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ และทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนทางใจได้ง่ายขึ้น คนที่มีความเคารพตัวเองต่ำ มักจะมีความสุขน้อยกว่า มองโลกในแง่ร้ายกว่า และมีแรงจูงใจน้อยกว่าคนที่มีความเคารพในตัวเองสูงกว่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจเกิดปัญหาได้ในอนาคตด้วย ดังนั้นจึงมาดูวิธีรักษาและบรรเทาอาการที่เกิดจากการเคารพตัวเองต่ำ

วิธีการรักษาและรับมือกับการเคารพตัวเองต่ำ

  • เห็นใจในตัวเองบ้าง ใจดีกับตัวเอง ลดการตำหนิตัวเอง
    เรามักจะทำโทษตัวเองเมื่อผิดพลาด ทั้งตำหนิตัวเอง นั่นเป็นสารกระตุ้นแรกที่ทำให้ความเคารพตัวเองลดลง ทำให้ตัวเราเองรู้สึกไม่มีค่า ไร้ซึ่งพลัง แนะนำให้สร้างความเห็นอกเห็นใจตัวเอง เมื่อตัวเองเองทำผิดพลาด ลดการตำหนิให้น้อยลง จะช่วยให้ความเคารพตัวเองไม่ได้ลดลงได้

  • เราก็มีจุดแข็งเหมือนกันนะ ลองระบุจุดแข็งของตัวเอง
    การที่เราระบุว่าเรามีจุดแข็งของตัวเองว่ามีอะไรบ้าง เป็นการยืนยันว่าเราเองก็มีแง่มุมที่มีค่า จะช่วยกระตุ้นความเคารพของตัวเองให้มากขึ้นได้ ช่วยฟื้นฟูภาวะทางอารมณ์ และลดอาการเปราะบางได้ด้วย

  • ยอมรับคำชมจากผู้อื่น และเสริมสร้างพลังให้ตัวเอง
    คนที่มีความเคารพตัวเองต่ำ มักจะปฏิเสธคำชื่นชมจากผู้อื่น ไม่ยอมรับคำชื่นชมนั้น ก็จะเป็นผลพวงที่ทำให้ผู้อื่นลดการชื่นชมเราในครั้งต่อไปแล้ว ยังทำให้เรามองไม่เห็นคุณค่าในตัวเองอีก ดังนั้นให้เรายยินดีรับคำชื่นชมของผู้อื่นบ้าง ทำให้ตัวเองมีคุณค่า เมื่อเรายอมรับคำชื่นชมได้มากขึ้น ก็เหมือนน้ำที่หล่อเลี้ยงหัวใจ คนอื่นก็เห็นคุณค่าของเราเช่นกัน ส่วนการเสริมสร้างพลังให้ตัวเองนั้นขึ้นอยู่กับว่ากิจกรรมอะไรที่ช่วยตรงนี้ได้ เพราะกิจกรรมบางอย่างในตรงนี้ไม่เหมือนกัน

สรุป Emotional First Aid ซ่อมแซมสุขที่สึกหรอ รีวิวหนังสือ ที่ว่าด้วยฮีลใจตนเองเหมาะกับใคร และได้อะไรบ้าง

รีวิวหนังสือ Emotional First Aid ซ่อมแซมสุขที่สึกหรอ

เหมาะกับผู้ที่เคยมีบาดแผลทางใจทุกคน คนที่เคยผ่านเรื่องที่ไม่ดีมา แผลทางในนั้นอาจจะเป็นแผลสดใหม่ แผลที่ตกสะเก็ดแล้ว หรือแผลเรื้อรัง ทั้งหมดนี้ก็ต้องการวิธีเยียวยา รักษา และบรรเทาในแต่ละแบบไม่เหมือนกัน อีกทั้งยังเหมาะกับคนที่มีคนใกล้ตัวต้องการความสุขที่มากขึ้น โดยเราสามารถนำสิ่งเหล่านี้ไปปรับใช้กับคนใกล้ชิดได้ด้วย เป็นหนังสือที่แนะนำให้อ่าน และนำไปปฏิบัติตาม เพราะสามารถฮีลใจได้จริง ๆ

rabbitor.net

ติดตาม Social Media และเว็บไซต์ในเครือได้ที่นี่



Close
💚 เลือกหัวข้อที่ต้องการอ่านได้เลย! เจอคอนเทนต์ที่ถูกใจอ่านจบแล้ว แชร์ให้ด้วยนะ💚
Close