รีวิว ภูสอยดาว ทริปเดินป่า เดินเขา 4 วัน 3 คืนจริง ๆ ที่มาของคอนเทนต์นี้มาจากที่ว่า ก่อนหน้านี้ 3 ปีที่แล้วช่วงปี 2020 เพื่อนได้ชวนไปเดินเขาที่ดอยม่อนจอง เชียงใหม่ ตอนแรกเราก็ไม่ได้คิดหรอกว่า เราจะชอบภูเขาขนาดนี้ เป็นการเดินเขาครั้งแรก และได้ประสบการณ์ที่ดีมาก ๆ กลับมา เพราะดอยม่อนจองสวยมาก ๆ เราได้เก็บรูปไว้แล้วในปัจจุบันนี้รูปที่เราถ่ายจากดอยม่อนจองนั้นก็ยังเป็นรูป Wallpaper มือถือเราอยู่เลย เมื่อปี 2022 ที่ผ่านมาก็ได้ไปเดินเขาที่ เขาหลวง ศีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย เรียกว่าเป็นทริปที่สนุกมาก เขามีความชันพอสมควร เราเลยรู้สึกว่าภูเขาเนี่ยแหละเป็นที่ที่ของเรา
เราเลยได้คุยกับเพื่อนสนิทว่า หลังจากนี้ไปเราจะไปเที่ยวภูเขา เดินเขากันทุกปีดีไหม เพื่อก็ตอบตกลงเลยกลายมาเป็นว่า ปี 2023 นี่หวยมาออกที่ ภูสอยดาว ซึ่งอุทยานแห่งชาติภูสอยดาวครอบคลุมอยู่ในจังหวัดอุตรดิตถ์ และจังหวัดพิษณุโลก เลยวางแผนการเดินทางมาล่วงหน้า เลยตกลงกันว่าจะไปวันที่ 18-21 ธันวาคม 2023 นั่นเอง เป็นช่วงวันธรรมดา คนไม่น่าจะเยอะ ลดความแออัดไปได้ ยังไม่ถึงช่วงหยุดยาว จะยังคงเงียบสงบอยู่
รีวิว ภูสอยดาว ทริปเดินป่า เดินเขา 4 วัน 3 คืน
- รีวิว ภูสอยดาว ช่วงเตรียมพร้อมก่อนเดินทาง และการเดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว (วันที่ 1-2)
- รีวิว ภูสอยดาว การเดินทางจากด้านล่างของอุทยาน ไปยังลานสน มีระยะทางประมาณ 6.5 กิโลเมตร (วันที่ 2)
- เดินขึ้นและลง ยอดภูสอยดาว 2102 เมตร จากลานสน ท้าทายกายและใจไม่น้อย (วันที่ 3)
- เดินลงจากลานสน ไปยังอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว พร้อมกลับไปที่กรุงเทพ (วันที่ 4)
- รีวิว ภูสอยดาว สิ่งที่ควรจะรู้ก่อนที่จะไปเดินเขา เดินป่า ที่ภูสอยดาว
- รีวิว ภูสอยดาว สิ่งที่เราจะได้รับ เมื่อไปที่ภูสอยดาว
รีวิว ภูสอยดาว ช่วงเตรียมพร้อมก่อนเดินทาง และการเดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว (วันที่ 1-2)

ก่อนที่เราจะเดินทางกันนั้น ต้องบอกก่อนว่า ผู้เขียนเองไม่ใช่นักเดินเขามืออาชีพ เป็นแค่ที่ชอบการเดินป่าเดินเขาเท่านั้น สภาพร่างกายปกติ ในวัย 30 กลาง ๆ ดังนั้น ใครที่กำลังมองหารีวิวที่เน้นเรื่องให้ความรู้ ที่นี่อาจจะไม่ได้มีให้มากนัก แต่ถ้ามองเอาจากฟีลมนุษย์ปกติ ที่นาน ๆ เดินเขาเดินป่าทีนึงที่นี่ก็น่าจะตอบโจทย์อยู่ไม่น้อย
พอเริ่มเอาจริงกับการเดินเขา ปีนเขา ก็ต้องมีอุปกรณ์ต่าง ๆ ทำให้รู้ว่าราคาอุปกรณ์บางอย่างแพงใช่เล่น
ก่อนที่เราจะไปเริ่มเดินเขากันนั้น เมื่อต้องเริ่มจริงจัง แน่นอนว่าอุปกรณ์ก็ต้องมี พอเราได้สำรวจอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เราจะต้องซื้อ เพราะเราเริ่มจริงจังกับมันแล้ว ทำให้รู้ว่า ราคาอุปกรณ์บางอย่างเนี่ยไม่ธรรมดาเลย อย่างเช่น เพื่อนได้ป้ายยาไม้เดินป่า Leki มา แหม่ ราคาเริ่มต้นก็หลักพัน อยากได้ฟังก์ชันแบบพับได้ น้ำหนักเบา หรือวัสดุดีขึ้น ราคาก็สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่เมื่อเราไม่ได้มี Budget สูงมาก และต้องการอุปกรณ์ราคาเป็นมิตร แน่นอนว่าก็ต้องไปที่ Decathlon เพราะเป็นแหล่งรวมอุปกรณ์กีฬาและกิจกรรมกลางแจ้งในราคาที่ดีมาก ๆ เราได้ของที่ดีแคทลอนค่อนข้างเยอะเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าเป้ รองเท้าเดินเขา กางเกง ถุงนอน และของจุกจิกอย่าง ไฟฉาย กระบอกน้ำ พวกนี้เรียกว่าราคาไม่แพง เราจะลิสต์สินค้าที่เราใช้จริงเอาไว้ สามารถคลิกไปเพื่อสั่งซื้อที่ Decathlon ออนไลน์ จะรอรับที่บ้านหรือรับที่สาขาก็ดีเช่นกัน
วางแผนการเดินทาง การจองต่าง ๆ เริ่มเดินทางออกจากหมอชิต 2 โดยรถทัวร์
ทั้งหมดนี้เป็นการเดินทางขึ้นเขาภูสอยดาว โดยเริ่มเดินทางจากกรุงเทพ วันจันทร์ที่ 18 ธันวาคม 2566 ตอนเวลา 20.30 น. และกลับถึงหมอชิต 2 ของวันศุกร์ที่ 22 ธันวาคม 2566 เวลา 03.00 น. ใช้เวลาทั้งหมด 5 วัน 4 คืน และใช้เวลาเมื่อถึงอุทยานแห่งชาติภูสอยดาวเป็นระยะเวลา 3 วัน 2 คืน ดังนั้นจำเป็นมาก ๆ ที่ต้องวางแผนการเดินทางให้ดี และสนุกกับทริปเดินป่า เดินเขา ในช่วงเวลาที่กำหนด
เริ่มแรกให้เราจองพื้นที่กางเต้นท์ก่อน ไปที่เว็บไซต์ https://nps.dnp.go.th เป็นเว็บไซต์ของอุทยานแห่งชาติ แล้วไปที่เมนู จองที่พัก-บริการ > จองพื้นที่กางเต้นท์ > เลือกที่พื้นที่กางเต้นท์ จากนั้นเลือกที่ภูสอยดาว แล้วจองตามระบบ อาจจะต้องสมัครสมาชิกและล็อกอินก่อน ซึ่งในหน้าเพจ Facebook ของอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว แจ้งว่าจะไม่มีระบบ Walk In ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ แนะนำว่าให้จองไปก่อนจะดีกว่า
ส่วนการจองอุปกรณ์ เต้นท์ ที่รองนอน หมอน ก็สามารถจองได้เช่นกัน แน่นอนว่ามีค่าบริการต่างหากที่แยกออกมาจากกัน หรือถ้าใครอยากไปจ่ายที่หน้างานก็สามารถทำได้ แต่ต้องระวังไว้หน่อยว่าใครที่ไปในวันหยุดยาว วันหยุดสุดสัปดาห์ อุปกรณ์ต่าง ๆ อาจขาดแคลนได้ แต่ถ้าใครมีอุปกรณ์เหล่านี้ส่วนตัวอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เหล่านี้จากอุทยานเลย

การเดินทางจากกรุงเทพไปยังพิษณุโลก ซึ่งเราได้เลือกการเดินทางโดยรถทัวร์ของ บขส. เริ่มเดินทางจากหมอชิต 2 ไปยังสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดพิณุโลก แห่งที่ 2 โดยเลือกการเดินทางโดยรถทัวร์เนื่องจาก มีค่าใช้จ่ายที่ประหยัด และไม่ต้องขับรถไปเอง และหลังที่เราเดินทางลงมาจากเขา จะเกิดการปวดเมื่อยล้าของขาด้วย ถ้าจะต้องขับรถกลับอีกคือคงไม่น่าจะไหว ซึ่งช่วงเวลาที่เราเดินทางออกมานั้นคือช่วง 20.30 ของวันที่ 18 ธันวาคม 2566 และเดินทางถึงพิษณุโลกคือช่วงเวลา 03.00 น. ของวันที่ 19 ธันวาคม 2566 นั่นเอง
เช็คสถานที่ทั้งหมด รีวิว ภูสอยดาว จาก rabbitor.net
เดินทางจากสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดพิษณุโลก แห่งที่ 2 ไปยังอุทยานแห่งชาติ โดยรถรับจ้าง

ก่อนที่เราจะเดินทางมานั้น ก็อย่าลืมจองรถรับจ้างเพื่อพาเราไปยังอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว แนะนำว่าถ้าต้องการจะหารถรับจ้างต่าง ๆ ให้เข้าไปยังกลุ่ม https://www.facebook.com/share/qvV4LgmGrDDTrJbP ชมรมคนรักภูสอยดาว🌠 ได้เลย เพราะจะมีคนที่เป็นรถรับจ้างโพสต์อยู่เป็นระยะ โดยทางเราเลือกไปโดยรถสองแถวรับจ้างที่จองไว้ก่อนแล้ว มีค่าบริการคนละ 400 บาท ไปกลับ โดยทางพี่คนขับมารับเราช่วงเวลาเกือบ 04.00 น. โดยเราสามารถขนของต่าง ๆ ขึ้นรถสองแถวไปได้เลย โดยจะมีการไปรับคนอื่น ๆ ที่ไปยังอุทยานด้วยเช่นกัน จุดมุ่งหมายต่อไปนั่นคือการไปที่ตลาดสดเทศบาลตำบลป่าแดง ซึ่งเป็นทางผ่าน โดยเราสามารถซื้อของสดที่เราอยากจะเอาขึ้นเขา และของก่อนต่าง ๆ รวมไปถึงพวกน้ำดื่มก็สามารถซื้อไปได้เหมือนกัน เพราะมี Lotus’s Go Fresh รวมถึง 7-11 เช่นกัน ซึ่งเราเดินทางถึงตลาดช่วงเวลาประมาณ 05.30 น. และใช้เวลาซื้อของราวครึ่งชั่วโมง จากนั้นออกเดินทางต่อ
และแล้วเราก็มาเดินทางถึงอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว ในช่วงเวลา 07.30 น. แต่อุทยานจะเปิดให้ขึ้นเขาลงทะเบียน ชำระเงินต่าง ๆ ได้ตอน 08.00 น. ดังนั้นเราจะมีเวลาที่จะเตรียมตัวเปลี่ยนชุด กินข้าว เพื่อเตรียมพร้อมก่อนที่จะลงทะเบียนหน้างาน
เช่าอุปกรณ์ จ้างลูกหาบ และชำระเงินบางส่วน

พอถึงเวลา 08.00 น. เจ้าหน้าที่ก็จะเริ่มมานั่งที่เคาน์เตอร์เพื่อรอรับนักท่องเที่ยว ซึ่งวันนี้ที่เรามา เรามากัน 5 คน โดยมีค่าบริการต่าง ๆ ดังนี้ ซึ่งส่วนตัวจำได้ไม่หมด อาจจะมีตกหล่นไปบ้าง และบางอย่างได้จองออนไลน์ไปแล้ว จำนวนเงินอาจจะดูไม่ครบ ให้ดูไว้เป็นแนวทาง
- ค่าเข้า 10 บาท
- ค่ามัดจำขยะ 200 บาท (เราจะได้เงินคืนเมื่อขนขยะลงมาด้วย)
- ค่าบริการขึ้นยอดภูสอยดาว 2102 จำนวน 500 บาท ต่อคน (ถ้าไม่ขึ้นไม่ต้องจ่าย หรือถ้าเปลี่ยนใจหลังจากถึงลานสนแล้ว ก็จะคืนเงินภายหลังให้)
- ค่าลูกหาบกิโลละ 30 บาท ซึ่งอันนี้จะรวมถึงค่าแบกเต้นท์ ถุงนอน ที่รองนอน หมอน ของอุทยานด้วย
- ค่าข้าวไข่เจียว จานละ 50 บาท (สำหรับด้านบนลานสน มาจ่ายเงินด้านล่างวันกลับ)
- ค่าน้ำอัดลม ขวดละ 30 บาท (สำหรับด้านบนลานสน มาจ่ายเงินด้านล่างวันกลับ)
ต้องบอกก่อนว่าถึงเราจะเดินทางกัน 5 คน แต่ว่าเช่าเต้นท์อุทยานจำนวน 4 เต้นท์ (ถึงแม้เต้นท์หนึ่งจะนอนได้ 3 คนก็ตาม) เนื่องจากแต่ละคนมีข้อจำกัดในด้านการนอน ต้องการความเป็นส่วนตัว เลยเช่าเต้นท์อุทยานกัน 4 หลังเลยดีกว่า
ค่าใช้จ่ายทั้งหมด ขาขึ้นขาลง อยู่ที่ 12,276 บาท หารเฉลี่ย 5 คน ตกที่คนละ 3,389 บาท ส่วนตัวที่คิดว่าจะประหยัดได้อีก ถ้าเราลดจำนวนเต้นท์ที่เช่าอุทยาน แต่อย่างว่าอยากได้ความเป็นส่วนตัว ก็ต้องจ่ายมากขึ้นเป็นธรรมดา
รีวิว ภูสอยดาว การเดินทางจากด้านล่างของอุทยาน ไปยังลานสน มีระยะทางประมาณ 6.5 กิโลเมตร (วันที่ 2)

ต้องบอกก่อว่าระยะทาง 6.5 กิโลเมตรนี้จะเป็นจุดที่ไปยังลานสน เป็นจุดกางเต็นท์ ซึ่งระยะทางดูเหมือนไม่ยาวเท่าไร แต่ในความเป็นจริงมันเหมือนนานเอาเรื่องอยู่นะสำหรับมนุษย์ปกติที่ไม่ได้เดินเขาหรือเดินเทรลเป็นอาชีพ แต่เรียกว่ามีความน่าผจญภัยอยู่ไม่น้อย บอกก่อนว่าแนะนำให้พกน้ำไปอย่างน้อย ๆ 2 ขวดใหญ่ (ขวดปริมาณ 1,500 มล.) เพราะว่าในระหว่างเดิน เราจะกระหายน้ำมาก โดยเฉพาะจุดที่เป็นเนินมรณะ จะร้อนและสูงชันมาก ถ้าน้อยกว่านี้มากไม่ค่อยแนะนำ ซึ่งอันนี้เป็นเฉพาะร่างกายของตัวเอง ซึ่งเป็นคนดื่มน้ำเยอะอยู่แล้ว ถ้าใครดื่มน้ำน้อยมากก็ต้องระวังไว้หน่อย และจะบอกเลยว่าเมื่อพ้นจุดน้ำตกสอยดาวมาแล้ว จะไม่มีจุดเติมน้ำอีกเลย จนกว่าจะอยู่บนลานสน
ช่วงแรกเดินผ่านน้ำตกภูสอยดาว ง่าย ๆ ชิลล์ ๆ

เราเริ่มออกเดินทางช่วงเวลา 09.00 น. เริ่มจากที่อุทยาน โดยเดินไปนิดเดียวก็เจอน้ำตกภูสอยดาวแล้ว ซึ่งจริง ๆ ตรงนี้สามารถเข้ามาได้ตลอด เพราะเนื่องจากคนมากเล่นน้ำกันบ่อย ๆ โดยทางเดินช่วงแรกนั้นเป็นการเดินเลียบทางน้ำตกไปเรื่อย ๆ ทางจะเป็นทางแคบ ๆ ไม่ได้กว้างมากนัก ช่วงที่เราเดินในช่วงนี้ก็สามารถถ่ายรูปกับน้ำตกได้อย่างเพลิน ซึ่งในเวลาที่เราเดินจริงนั้น พวกแมลงอาจจะมีไม่มากนัก แต่ก็แนะนำว่าให้ใช้สเปรย์กันแมลงทาไปด้วย เพราะบางทีอาจจะเจอตัวคุ่น ที่มากัดและทำให้เราคัน เดินได้ไม่สะดวกนัก ซึ่งจุดที่เป็นทางเดินเลียบน้ำตกนี้มีระยะทางไม่ยาวมาก และส่วนมากจะเป็นทางราบ จะมีทางชันบ้างนิด ๆ ซึ่งเดินได้อย่างสบาย

เมื่อพ้นน้ำตกสอยดาวมาแล้ว เรียกว่าจะเริ่มมีความยากขึ้น หลังจากเนินส่งญาติ จะเป็นช่วงของป่าไผ่ จุดนี้จะเริ่มมีความชันมากขึ้น ไม่ค่อยร้อนมากนัก เนื่องจากจะมีไผ่ และต้นไม้ใหญ่ปกคลุมทั่วทุกพื้นที่ ทำให้มีร่มเงาบ้าง ชดเชยความเหนื่อยที่เดินกันมาระยะหนึ่ง และจะมีระดับความสูงอยู่ที่ 650 เมตร สำหรับเราเองนั้น ก็มีพักเป็นระยะ เพราะเริ่มจากจุดนี้ก็เริ่มใช้พลังมากขึ้น

จากนั้นจะเป็นเนินปราบเซียนที่จะค่อย ๆ มีความชันขึ้นมาเรื่อย ๆ ซึ่งถ้าคุณไม่ใช่คนที่เดินเทรลมา หรือออกกำลังกายมาหนัก ๆ ก็จะพักบ่อยขึ้น สำหรับตัวเองแล้วเรียกได้ว่าพักค่อย ๆ ถี่ขึ้นเหมือนกัน ซึ่งตรงนี้ไป ป่าจะค่อย ๆ มีลักษณะของความโปร่งมากขึ้น แสงส่องมามากขึ้นเพราะน่าจะเป็นเวลาเที่ยง ๆ ก็ต้องระวังเรื่องของความร้อนเอาไว้ให้ดี ความสูงก็จะชันแต่ว่าใจยังสู้ก็สามารถเดินทางได้เรื่อย ไปยังเนินเสือโคร่ง และจนกระทั่งมาเจอเนินมรณะ ก็โหดตามชื่อเลย
เนินมรณะ ทางชันมากกว่าปกติที่เคยเดินมา และร้อนมากในช่วงบ่าย แต่ก็ยังมีวิวถ่ายรูปดี ๆ เยอะมาก
เนินมรณะเรียกได้ว่าขึ้นชื่อมาก ๆ เพราะช่วงเวลาถ้าเราเดินตามปกติน่าจะเป็นช่วงบ่ายสอง ซึ่งแดดกำลังลงมาเต็มที่ และเป็นเนินเขาที่เรียกได้ว่าแทบไม่มีต้นไม้ใหญ่ ๆ เลย จะมีแดดลงมาเปรี้ยง ๆ ทำให้เราร้อนมาก ๆ ในขณะที่เดิน หรือจะพักก็จะไม่มีที่หลบแดดเลย และที่ขึ้นชื่อมาก ๆ ของเนินมรณะ ก็คือการที่ทางขึ้นมีความชันมาก ๆ มากในที่นี้คือเวลาเราเดินอาจจะต้องมีการระมัดระวังมากกว่าปกติ ใช้แรงกายและแรงใจ อีกทั้งยังมีความร้อนที่แผดเผามาอีก ทำให้เรากระหายน้ำและหมดแรงได้บ่อย ตรงนี้เนินมรณะ มีความสูงจากระดับน้ำทะเลที่ 1,140 เมตร ถ้าคุณผ่านเนินมรณะนี้ไปได้ ก็จะถึงลานสนที่เป็นจุดที่กางเต็นท์ ซึ่งมีระยะห่างออกไปราว 1.5 กิโลเมตรเท่านั้น

ถึงลานสน ลานกางเต็นท์ ก็ไปแจ้งเจ้าหน้าที่ให้เรียบร้อย พร้อมพักผ่อนตามสะดวก
เมื่อถึงลานสนส่วนมากก็มักจะเป็นช่วงเย็น คือน่าจะหลังจาก 16.00 น. ไปแล้ว ก่อนที่เราจะเพลิดเพลินไปกับการถ่ายรูปและวิวที่ลานสน ให้เราไปรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ ตรงกระท่อมที่เป็นจุดบริการได้เลย จุดตรงนี้เราจะสามารถสั่งข้าวไข่เจียว และพวกน้ำอัดลมต่าง ๆ ได้ ซึ่งข้าวไข่เจียวและน้ำอัดลม เรายังไม่ต้องจ่ายเงิน แต่จะมีระบบจด ซึ่งจะมีบิลบอกค่าใช้จ่ายว่าเราสั่งอะไรไปบ้าง ซึ่งนักท่องเที่ยว 1 กลุ่มที่มาด้วยกันก็จะมีบิลใบนี้ การสั่งอาหารก็จะต้องจดลงบิลใบนี้ ถ้าไม่มีไม่สามารถสั่งอาหารได้ รวมไปถึงมีตู้ชาร์จมีบริการ ซึ่งมีค่าบริการนาทีละ 50 สตางค์ รวมไปถึงตู้กดน้ำดื่ม ราคา 20 บาท/ลิตร ถ้าไม่มีเหรียญ สามารถแลกกับเจ้าหน้าที่ได้ ซึ่งก็ต้องบอกเลยว่าต้องเตรียมเงินสดมา เงินโอนไม่ต้องพูดถึงเพราะไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตบริเวณลานสนเลย ส่วนใครที่จองเต็นท์ของอุทยานมาแล้วก็แจ้งเจ้าหน้าที่ได้เลยว่าจะให้ตั้งตรงไหน เจ้าหน้าที่ใจดีมาก ๆ บริการดี คุยดีสุด ๆ

สำหรับใครที่อยากชมวิวสวย ๆ บริเวณลานสนนั้นกว้างใหญ่มาก ๆ ช่วงเย็น ๆ ใกล้พระอาทิตย์ตก จะมีขุดชมวิวที่ห้ามพลาด (และจุดนี้เองเป็นจุดเดียวของลานสนที่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต ต้องมาเล่นเน็ตแถวนี้เท่านั้น) ส่วนบริเวณรอบ ๆ นั้นก็มีลานสนเยอะมาก ๆ วิวสวยสุดลูกหูลูกตา ถ้าใครมาช่วงสิงหาคมถึงกันยายน จะได้เห็นทุ่งดอกหงอนนาคเป็นสีม่วงเต็มลานสน แต่ช่วงที่เรามานั้นเป็นช่วงกลางเดือนธันวาคม ดอกหงอนนาคก็เริ่มร่วงโรยไปตามกาลเวลา แต่ก็ยังแอบเห็นหลงเหลืออยู่เหมือนกัน ก็จะสวยไปอีกแบบ
ใครที่ต้องการเข้าห้องน้ำ ที่นี่ก็จะมี ขันและถังให้เช่า เราสามารถนำน้ำนี้ไปเติมเพื่อไปอาบน้ำและใช้ทำธุระส่วนตัวได้ แต่บอกเลยว่าถ้าใครจะอาบน้ำ แนะนำให้อาบก่อนที่ตะวันจะตกดิน เพราะไม่งั้นจะหนาวมากกกกก

กิจกรรมอีกหนึ่งอย่างของภูสอยดาว ก็ตามชื่อเลยว่า เราจะมองเห็นดวงดาวได้อย่างชัดเจน เพราะที่นี่นั้นช่วงกลางคืนจะมืดสนิท อีกทั้งถ้าเรามาถูกช่วงเวลา และฟ้าเปิดเป็นใจ ก็อาจจะให้เห็นทางช้างเผือกก็ได้ แต่ตอนที่ผู้เขียนมานั้นก็เห็นดวงดาวมากมาย เลยเอากล้องที่ติดตัวมาถ่ายรูปด้วยสักหน่อย เลยกลายเป็นรูปดาวสวย ๆ พร้อมหมอก และมีต้นสนเป็นฉากประกอบ เรียกได้ว่าสวยจับใจมากเลยจริง ๆ หลังจากวันนั้นเราก็หลับไปในช่วงกลางคืนซึ่งอากาศเย็นมาก ถ้ามีถุงนอนดี ๆ ก็ช่วยได้เยอะ

เดินขึ้นและลง ยอดภูสอยดาว 2102 เมตร จากลานสน ท้าทายกายและใจไม่น้อย (วันที่ 3)
วันนี้เรียกได้ว่าเป็นวันที่รอคอยเลยก็ว่าได้ เพราะทางที่จะขึ้นไปพิชิตยอดภูสอยดาว 2102 นั้น ทางโหดอยู่ไม่น้อย เราตื่นมาตั้งแต่ช่วง 7.00 น. ก็กินข้าวอะไรให้เรียบร้อย ช่วงเวลาเกือบ 08.00 น. ก็ไปรายงานตัวที่จุดบริการ ก็จะมีการให้เซ็นชื่อ พร้อมทั้งใส่เข็มขัดเซฟตี้ หมวกเซฟตี้ เนื่องจากทางที่เราจะต้องไป อาจเกิดมีเศษหินกระเด็นใส่ได้ ส่วนเข็มขัดเซฟตี้ เราก็สามารถเอาตะขอเกี่ยวเชือกในขณะที่ปีนป่ายได้เหมือนกัน ซึ่งถ้าใครจะปีนยอดจะได้รับถุงมือมาก่อนจากอุทยาน ก็ให้ใส่ถุงมือไว้ด้วยเพราะเราจะต้องใช้ในการปีนเชือก ก่อนที่จะเริ่มแนะนำว่าให้เราเอาข้าวกล่องไปด้วย ให้ทางเจ้าหน้าที่จุดบริการทำข้าวไข่เจียวใส่กล่องได้เลย เพราะถ้าเราเดินขึ้นไปนั้นจะใช้เวลาพอสมควร กว่าจะถึงยอดเรียกได้ว่าถึงเที่ยงวันหรือบ่ายโมง ทันเวลากันข้าวพอดี ส่วนเรื่องน้ำใครที่กระหายน้ำบ่อยอย่าเช่นผู้เขียนเอง เอาขวด 1.5 ลิตรไป 2 ขวด เต็ม ๆ พร้อมกับพวกลูกอมหวาน ๆ เพื่อให้ได้พลังงานจากน้ำตาลด้วย อย่าลืมว่าเราขึ้นไปก็ต้องลงมานะ

ก่อนที่เราจะไปปีนกันเลยมาบอกก่อนว่าสถานีในการปีนนั้นมีอยู่ 10 สถานี ก่อนที่จะถึงยอดภูสอยดาว 2102 ต้องบอกไว้ก่อนนะว่า หน่วยความสูงระดับจากน้ำทะเลนั้นที่ไม่ได้ใส่ทุกสถานี้เพราะไม่ได้ถ่ายรูปไว้จำไม่ได้ทั้งหมด ทั้งหมดนี้จะได้เห็นความสูงคร่าว ๆ ว่าเป็นอย่างไรความยากจะเริ่มจากตรงไหน
- สถานีที่ 1 ไผ่กรงจักร มีความสูง 1,598 Msl
- สถานีที่ 2 ห้วยลึก มีความสูง 1,573 Msl
- สถานีที่ 3 เมเปิล มีความสูง 1,596 Msl
- สถานีที่ 4 ดงกล้วยป่า มีความสูง 1,629 Msl
- สถานีที่ 5 เริ่มปืนเขา
- สถานีที่ 6 ที่พักริมผา
- สถานีที่ 7 หวายป่า มีความสูง 1,899 Msl
- สถานีที่ 8 ทางหมูป่า 1,947 Msl
- สถานีที่ 9 ดงเลียงผา 2,025 Msl
- สถานีที่ 10 จุดโรยตัว 2,100 Msl

สำหรับการเดินเขาของตัวเอง ในช่วงสถานีที่ 1-4 จะเป็นการเดินธรรมดา บางจุดต้องเดินลงเยอะมาก ๆ เช่นห้วยลึก และก็ต้องเดินขึ้นมาด้วยเช่นกัน จะเห็นว่าความสูงจะระดับน้ำทะเลสถานี 1-4 นั้น จะไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก เป็นช่วงที่เราอยู่ตีนเขา แต่ของจริงนั่นคือสถานีที่ 5 เป็นต้นไป เพราะความชันจะชันขึ้นมาก ชันในรูปแบบที่ว่าต้องใช้เชือกดึง (ใครที่เอาไม้ Trekking Poles มา ไม่ต้องเอามาใช้ขึ้นยอดนะ เพราะมันชันจริง ๆ ใช้ตอนขึ้นลานสนกับลงลานสนจะดีกว่า) แล้วการดึงเชือก การปีนต่าง ๆ จะทำให้มือและแขนของเราล้าได้ ต้องระวังเอาไว้ด้วยเช่นกัน ถ้าใครมาช่วงหน้าหนาวก็จะดีตรงที่ว่าพื้นดินจะแห้ง ๆ แต่ถ้าใครมาปลายหน้าฝนก็อาจต้องทำใจเลยว่าดินเละแน่นอน จะลื่นง่ายด้วย ส่วนที่ต้องระวังมาก ๆ คือพยายามอย่าให้เกิดอุบัติเหตุ ต้องระมัดระวัง การเดิน การไต่ของเราเอาไว้ให้ดี แต่เอาจริง ๆ คือไม่ได้น่ากลัว คนธรรมดาอย่างเราสามารถผ่านไปได้

เมื่อถึงยอดแล้วก็จะพบกับวิวสุดลูกหูลูกตา ซึ่งเป็นยอดที่ไม่ได้ใหญ่มากนัก พร้อมกับป้ายผู้พิชิตยอดภูสอยดาว 2102 เมตร มีธงชาติให้ถือไว้สำหรับถ่ายรูปกันได้ ซึ่งเราเป็นคนที่เดินช้า เลยมาถึงที่ยอดเป็นคนเกือบสุดท้าย ช่วงเวลา 13.00 น. เลยกินข้าวที่พกขึ้นมาพร้อมกับถ่ายรูปนิดหน่อย และเริ่มเดินลงในช่วงเวลา 14.00 น.

ซึ่งตอนลงนั้นจะมีความท้าทายคนละแบบกับตอนขึ้น เพราะตอนขึ้นคือเราจะมองแต่ข้างหน้ากับข้างบนเป็นหลัก พอต้องลงเราจะต้องใช้ความพยายามมากกว่าปกติในการย่างเท้า ไม่ก็ต้องใช้เข็มขัดเซฟตี้เกี่ยวกับเชื่อแล้วค่อย ๆไต่ลง บางที่เดินลงมาแล้วมองขึ้นไปข้างบนจากยอดที่เราลงมาแล้ว ก็ได้แต่นึกสงสัยนะว่าตอนขึ้นเราก็ขึ้นไปได้ บอกเลยว่าระยะทางจากลานสนประมาณ 5 กิโลเมตร ไปกลับก็ 10 กิโลเมตร แต่เดินจริง เยอะกว่านั้นแน่นอน แต่เมื่อลงมาถึงลานสนได้สำเร็จก็นึกว่า เออเราเองก็เก่งเหมือนกันนะเนี่ย มาถึงภูสอยดอยดาว มายังลานสน และยังขึ้นยอด 2102 ได้ ก็เป็นอีกจุดหมายหนึ่งในชีวิตที่พิชิตไปได้
ซึ่งเราลงมาถึงลานสนก็เกือบจะเป็นเวลา 17.00 น. เรียกว่าใช้เวลาคุ้มค่าทีเดียว จากนั้นก็ทำตามอัธยาศัย กินข้าว อาบน้ำ ชมพระอาทิตย์ตกอีกครั้ง ช่วงค่ำก็มาถ่ายรูปดาวสวย ๆ ก่อกองไฟผิงเพื่อให้เกิดความอบอุ่น เพราะนึกได้อีกทีวันพรุ่งนี้ก็จะเป็นช่วงเวลาที่เราต้องกลับแล้วสินะ
เดินลงจากลานสน ไปยังอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว พร้อมกลับไปที่กรุงเทพ (วันที่ 4)

เช้าวันรุ่งขึ้นของวันที่ 4 เรียกได้ว่ามีความเศร้าที่จะต้องกลับแล้ว ก็เก็บของให้เรียบร้อย เก็บขยะใส่ถุง เพราะเราจะต้องนำกลับไปด้วย ทั้งหมดนี้เราก็เตรียมพร้อมให้นำของไปวางไว้ที่จุดบริการช่วงประมาณ 07.00-08.00 น. จะมีการลงทะเบียนอีกครั้งว่าใครจะลงวันนี้บ้าง ใช้บริการลูกหาบหรือไม่ มีการชั่งน้ำหนักของไป จากนั้นเราก็สามารถเริ่มเดินทางลงกันได้เลย ซึ่งก็แนะนำเหมือนเดิม กินข้าวให้อิ่ม หรือพกข้าวไข่เจียวห่อไว้ก็ได้ จากนั้นเราก็เริ่มเดินลงช่วงเวลา 09.00 น. แต่แปลกที่ว่าตอนที่เราเดินลงเราจะเจอกับเนินมรณะก่อน แน่นอนว่าเนินมรณะก็ยังคงสมชื่อ แต่ว่าไม่เหนื่อยเหมือนตอนขาขึ้น อาจเป็นเพราะเนื่องจากตอนเช้าแดดยังไม่แรงมาก และเรายังไม่เหนื่อย ก็ทำให้เราเดินได้เร็ว และผ่านพ้นไปได้ด้วยดี เอาจริง ๆตอนเราเดินลง เราจะโฟกัสทิวทัศน์มากกว่าตอนขาขึ้นอีกนะ เนื่องจากว่าเป็นช่วงที่เราไม่เหนื่อยมาก ได้มีเวลาที่จะมองรอบ ๆ ตัว ทำให้เรามองเห็นบรรยากาศมาได้เยอะ และได้ถ่ายรูปไว้อีกเป็นจำนวนมาก

ซึ่งเราจะลงมาถึงที่ทางเข้าน้ำตกสอยดาวตอน ราว 15.00 น. เราก็หาอะไรกินอย่างร้านส้มตำหรือร้านอาหารตามสั่งได้เลยเลย จากนั้นเราก็ขึ้นรถของเจ้าหน้าที่อุทยานไปยังอุทยานอีกที ซึ่งมาถึงแล้วเราก็อาบน้ำอะไรให้เรียบร้อยเช็คของเอาไว้ให้ดี แล้วก็อย่าลืมไปรับใบประกาศนียบัตรว่าเราเคยขึ้นมาถึงลานสน และเคยขึ้นยอดภูสอยดาว แล้วก็สามารถโทรแจ้งคนขับที่มาส่งเราไว้ได้ ให้มารับเรารวมถึงคนอื่น ๆ ตามเวลาที่นัดหมายกันไว้ จากนั้นคนขับก็จะพาเรามาส่งตามที่เราได้ตกลงกันไว้ ซึ่งคนขับพามาส่งเราที่ สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดพิษณุโลก แห่งที่ 2 และได้เดินทางที่ตอยประมาณ 21.00 น. ถึงหมอชิตราว ๆ 03.00 น. ของอีกวัน เป็นอันจบทริปเดินป่าเดินเขาที่ภูสอยดาว



รีวิว ภูสอยดาว สิ่งที่ควรจะรู้ก่อนที่จะไปเดินเขา เดินป่า ที่ภูสอยดาว

- ลานสน ลานกางเต็นท์ แทบจะไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ จะมีอยู่ใกล้ ๆ บริเวณจุดชมวิว ต้องเดินไปไกลหน่อย
- อุณหูมิช่วงที่เราไปต่ำสุดช่วงกลางคืนอยู่ที่ 12-15 องศาเซลเซียส
- ในระหว่างเดินถ้าพ้นจากน้ำตกสอยดาวมาแล้ว จะไม่มีจุดเติมน้ำอื่นอีกเลย รวมถึงการขึ้นยอด ดังนั้นควรเตรียมน้ำให้เพียงพอก่อนที่จะเดิน
- ถ้าจะขึ้นไปเห็นดอกหงอนนาคสวย ๆ ควรไปช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน
- เช็คสถานที่ทั้งหมด รีวิว ภูสอยดาว จาก rabbitor.net
รีวิว ภูสอยดาว สิ่งที่เราจะได้รับ เมื่อไปที่ภูสอยดาว

เรามองว่าการไปท่องเที่ยวทุกครั้ง เราก็มักจะได้อะไรกลับมาอยู่ไม่น้อย การที่เราไปภูสอยดาวในครั้งนี้ รวมถึงการขึ้นยอด 2102 ได้ ทำให้เรารู้ถึงขีดจำกัดของตัวเองและความภาคภูมิใจ ว่าตอนนี้เราอายุ 36 เป็นคนธรรมดา ไม่ได้ออกกำลังกายแบบทุกวัน ก็ยังสามารถขึ้นไปได้อยู่ และยังได้เห็นถึงความสวยงามของธรรมชาติ ซึ่งภูสอยดาวนั้นเป็นแหล่งรวมรวมหลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นน้ำตก ป่าไผ่ ใบเมเปิล ต้นสน ดอกหงอนนาค อีกทั้งเรายังสามารถดูดาวได้ด้วยตาเปล่า มองเห็นความสวยงาม ถ้าใครพกกล้องกับขาตั้งกล้องมาด้วย จะสามารถถ่ายรูปดาวสวย ๆ ติดกลับบ้าน
อีกทั้งเรายังได้มิตรภาพใหม่ ๆ เพราะตัวผู้เขียนเองได้ไปเดินทางกับเพื่อนของเพื่อน และยังไม่พอ ในบางครั้งเราอาจได้พูดคุยกับคนอื่น ๆ ที่ไปภูสอยดาว รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่คอยดูแลพวกเราเป็นอย่างดี ทั้งหมดนี้เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งความทรงจำที่ดีกับภูสอยดาว