วิธีเลือกบัตรเครดิต เป็นคอนเทนต์บทความพิเศษ ไม่ได้มารีวิว แต่เป็นคอนเทนต์ Q&A ถามตอบ คำถามที่พบกันเจอกันบ่อย ๆ โดยทาง rabbitor นั้นจะรวบรวมคอมเมนต์ในทุก ๆ ช่องทาง (เอาจริงส่วนมากมีแต่ที่ YouTube ของทาง rabbitor เอง คอมเมนต์เยอะมาก ๆ ปลื้มใจ ขอบคุณทุกคนด้วยครับ) เลยมาตอบคำถามกัน
ถ้าคอนเทนต์นี้มีคนอ่านและฟังเยอะ เดี่ยวจะตอบอีกเรื่อย ๆ โดยจะมี 4 คำถาม เช่น พนักงานบริษัทกับฟรีแลนซ์ ใครสมัครบัตรเครดิตง่ายกว่ากัน / บัตรเครดิตที่ใช้จ่ายด้านโฆษณาออนไลน์และยังได้คะแนนมีบัตรไหนบ้าง / แอพที่ใช้จัดการบัตรเครดิตและรายรับรายจ่าย ใช้แอพอะไรอยู่ / วิธีเลือกบัตรเครดิตให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง
*ใช้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนได้เต็มจำนวนตามกำหนด จะได้ไม่เสียดอกเบี้ย 16%
พนักงานบริษัท VS ฟรีแลนซ์ แบบไหนสมัครบัตรง่ายกว่ากัน
ตอบแบบใช้จากประสบการณ์ส่วนตัว ทั้งเคยเป็นพนักงานประจำ และตอนนี้เป็นฟรีแลนซ์ แน่นอนว่าเป็นพนักงานบริษัทแบบทำงานประจำสมัครง่ายกว่ามาก ๆ เพราะตอนที่เราเป็นพนักงานบริษัททำงานประจำ ใช้เงินเดือนเป็นเกณฑ์ และยื่นเอกสารครบ เช่นพวกสเตทเมนต์ สลิปเงินเดือน เท่านี้เรียกได้ว่าสมัครบัตรเครดิตที่มีเกณฑ์ตรงตามรายได้ประจำ ก็ได้เกือบทุกใบ นาน ๆ จะมีบางใบปฏิเสธบ้าง แต่ก็น้อยมาก ๆ
แต่เมื่อเทียบกับการที่เราเป็นฟรีแลนซ์มาราว ๆ 1 ปี ซึ่งตอนนี้มีรายได้ต่อเดือนสูงกว่ารายได้ที่ได้จากงานประจำหลายเท่า และค่อนข้างสม่ำเสมอ มีการออกใบทวิ 50 อย่างถูกต้อง เราก็ยื่นเอกสารไปทั้งหมด โดยสมัครในเกณฑ์แบบใช้รายได้ แต่เรียกได้ว่า แทบไม่มีธนาคารไหนให้บัตรที่เราสมัครในนามฟรีแลนซ์เลย ปัจจุบันนี้ใช้งานบัตรเครดิตที่ได้มาจากช่วงที่เป็นพนักงานประจำทั้งนั้น ตอบคำถามนี้แบบฟันธง ถ้าใช้เกณฑ์สมัครบัตรเครดิตแบบรายได้ ผู้ออกบัตรเครดิตรักพนักงานบริษัทมากกว่าฟรีแลนซ์ ฝั่งพนักงานประจำมีแนวโน้มที่จะอนุมัติบัตรเครดิตได้สูงกว่าฟรีแลนซ์
ซึ่งตรงนี้ในอนาคต ส่วนตัวอาจจะไม่สมัครบัตรเครดิตโดยใช้เกณฑ์รายได้อีกต่อไป แต่จะใช้เกณฑ์เงินออมแทน เนื่องจากเกณฑ์เงินออมนั้น ขอแค่มีเงินฝาก ขั้นต่ำที่ 1 ล้านบาทขึ้นไป ก็สามารถสมัครบัตรเครดิตได้แล้ว โดยที่ไม่ดูรายได้เลย มักจะให้วงเงินที่ 10% ของเงินออมนั้น ๆ (คนละอันกับเกณฑ์ฝากค้ำ เพราะฝากค้ำไม่สามารถถอนออกมาใช้งานได้ แต่ถ้าใช้เกณฑ์เงินฝากจะถอนออกมาใช้งานได้ตามปกติ) ซึ่งถ้าถึงโอกาสนั้นแล้ว จะมีรีวิวการสมัครโดยใช้เกณฑ์เงินออมมาเล่าให้ฟังกันในอนาคต
บัตรเครดิตสำหรับใช้ตัดโฆษณา และยังได้คะแนน
เนื่องจากตัวเองทำอาชีพ Digital Marketing Specialist จึงไม่สามารถหลีกหนีได้เลยที่จะต้องใช้งานบัตรเครดิตในด้านของโฆษณา ซึ่งเราต้องรู้ก่อนว่าโฆษณาแต่ละแพลตฟอร์ม ตัดบัตรที่ประเทศอะไร และสกุลเงินเป็นอะไร (ซึ่งในนี้ขออนุมานว่าเป็นเงินบาททั้งหมด เพราะปกติคงไม่ค่อยมีใครบัตรสกุลเงินต่างประเทศเพราะจะเสียค่าอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่ม ยกเว้นจะมีความจำเป็นจริง ๆ) ทั้งหมดนี้เป็นการรูดออนไลน์โดยไม่ได้โชว์บัตรตัวจริง สรุปคือเราคิดจากเกณฑ์ต่อไปนี้ 1.เป็นการรูดออนไลน์ ไม่ได้ใชว์บัตรจริง 2.รูดเป็นสกุลเงินบาท 3.ดูที่แพลตฟอร์มโฆษณาว่าตัดที่ประเทศอะไร โดยผู้เขียนจะลิสต์แพลตฟอร์มโฆษณาที่ดัง ๆ เป็นที่นิยมในไทย เช่น
- Facebook Ads
ตัดบัตรที่ไอร์แลนด์ หนึ่งในกลุ่มเขตเศรษฐกิจยุโรป หรือ EEA อีอีเอ ซึ่งมีหลายบัตรที่ยกเว้นการให้คะแนนเมื่อรูดที่นี่ - Google Ads
ตัดบัตรที่สิงคโปร์ - TikTok Ads
ตัดที่สิงคโปร์เช่นกัน - LINE Ads
ไลน์จะตัดที่ประเทศไทย
ดังนั้นจะมีบัตรเครดิตทั้งหมด อยู่ 3 ค่าย ที่ตัดบัตรแพลตฟอร์มด้านบนนี้ทั้งมด และเป็นไปตามเกณฑ์ ยังได้คะแนนอยู่ (ช่วงเวลาที่เขียนคือเดือนพฤศจิกายน 2566) มี
- บัตรเครดิต AEON อิออน
คะแนนแฮปปี้พอยต์ Happy Point จากค่ายอิออนนั้น เท่าที่อ่านดูยังไม่มีข้อยกเว้นไหนที่ห้ามเลย เรียกได้ว่าใช้ได้หายห่วง ได้คะแนน อ่านรายละเอียดการให้คะแนนจากอิออน - บัตรเครดิต American Express (AMEX)
คะแนนสะสมจากบัตรเครดิตค่าย AMEX ก็น่าสนใจมาก ๆ เพราะยังให้คะแนนตามปกติ อ่านรายละเอียดการให้คะแนนของ AMEX ได้ที่นี่ แต่ว่าแพลตฟอร์ม LINE Ads ยังไม่สามารถตัดจากบัตรเครดิต AMEX ได้
- บัตรเครดิตกรุงศรี Krungsri Credit Card (KCC)
บัตรเครดิตกรุงศรี Krungsri Credit Card (KCC)นับว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการใช้บัตรเครดิตในการจ่ายค่าโฆษณาบนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้เป็นอย่างดี เพราะยังได้คะแนนอยู่ อ่านรายละเอียดการให้คะแนนของ KCC ได้ที่นี่ / ยกเว้นบัตรเครดิตกรุงศรีนาวแพลตตินัม เนื่องจากไม่มีการให้คะแนนในช่องทางออนไลน์อยู่แล้ว
ทั้ง 3 ค่ายนี้เรียกได้ว่ายังคงเป็นบัตรเครดิตที่ให้คะแนนอยู่สำหรับการทำโฆษณาออนไลน์ ท่ามกลางหลายบัตรที่ยกเว้นคะแนนตรงส่วนนี้ไปแล้ว ทำให้บัตรเครดิตจาก 3 ค่ายนี้มีแต้มต่อสูงมาก สำหรับคนมาใช้จ่ายค่าโฆษณาออนไลน์ แต่แน่นอนว่าต้องอ่านรายละเอียดข้อยกเว้นของแต่ละบัตรด้วย
แอพที่ใช้จัดการบัตรเครดิต รายรับรายจ่าย มีหลายใบก็ไม่งง
สำหรับแอพพลิเคชันที่ใช้งานด้านบัตรเครดิตโดยตรง จริง ๆ มีหลายแอพ แต่เท่าที่เคยใช้มา Piggipo เป็นอะไรที่สะดวกมาก ๆ เนื่องจากคนไทยทำ ก็จะเข้าใจว่าการใช้งานบัตรเครดิตในไทยเป็นอย่างไร มีไอคอนธนาคารไทยอีกด้วย กำหนดวันตัดรอบบิล และวันจ่าย เมื่อใกล้ถึงวันจ่ายก็จะมีแจ้งเตือน นับว่าค่อนข้างโอเคเลยทีเดียว
แต่ปัจจุบันนี้นั้นย้ายมาใช้ Money Lover ทั้งหมดแล้ว เนื่องจากการเงินส่วนบุคคลมันมากกว่าแค่บัตรเครดิต กลายเป็นส่วนที่ต้องทำรายรับรายจ่าย ก็ทำได้ง่ายขึ้น แยกกระเป๋า แยกบัญชีเอาไว้เป็นส่วน ๆ รวมไปถึงการตอบสนองการจดยอดบัตรเครดิต ก็ทำได้ง่ายมาก การแยกกระเป๋าเงินสำหรับแต่ละเป้าหมายก็ทำได้ เรียกว่าแอพ Money Lover เป็นอีกหนึ่งแอพในดวงใจ ในเรื่องของการจดบันทึกการเงินส่วนบุคคลกันเลยทีเดียว ซึ่งเราก็เคยรีวิวกันไปแล้ว อ่านได้ที่นี่
ทั้ง 2 แอพนี้ฟรี แต่ว่ามีข้อจำกัดมาก แต่ถ้าปลดล็อกข้อจำกัด ได้สิทธิและฟังก์ชันอย่างอื่นเพิ่มเติม ก็จะมีค่าบริการรายเดือนเพิ่มเติมด้วย
วิธีเลือกบัตรเครดิต ให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง
วิธีเลือกบัตรเครดิต เราเข้าใจว่าการเลือกบัตรเครดิตนั้นไม่ง่าย เพราะมีหลายตัวเลือก หลายธนาคาร เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะเลือกบัตรโดยเน้นสิทธิประโยชน์เป็นหลัก ก็ควรจะสังเกตตัวเองว่าใช้เงินกับไปที่ไหนและซื้ออะไรบ้าง และนี่คือคำถามที่ควรจะตอบตัวเองให้ได้
- ปกติเราซื้อสินค้าอะไรบ่อย ๆ โดยเฉพาะในชีวิตประจำวัน
- เราเข้าซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ไหน ใช้จ่ายอย่างไร แค่ไหน
- เรากินข้าวที่ไหน ร้านอาหารบ่อยไหม หรือสั่งเดลิเวรี่บ่อยกว่า
- ของที่นาน ๆ ซื้อทีและมียอดใหญ่ อย่างประกัน เป็นการซื้อสม่ำเสมอไหม
- คำนึงถึงการแลกแต้ม การได้เงินคืน แบบไหนโอเคกว่า
- เรื่องแอพพลิเคชันของบัตรเครดิต ธนาคาร สะดวกแค่ไหน
จริง ๆ ทั้งหมดนี้ก็จะช่วยตอบเจ้าของไลฟ์สไตล์ได้ในระดับหนึ่ง บางทีเราเข้าใจว่าบัตรเดียวไม่เพียงพอต่อการตอบสนองการใช้จ่ายเพื่อให้ผลประโยชน์ ก็อาจจะดูใบอื่น ๆ รองลงมาก็ได้ หรือถ้าบางคนขี้เกียจจำว่ามีบัตรเยอะ การถือบัตรเครดิตใบเดียวก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร
จริง ๆ การมีจำนวนบัตรมากหรือน้อย ไม่ได้สำคัญ แต่สำคัญตรงที่ว่าเราต้องมีวินัยทางด้านการเงิน การใช้งานบัตรเครดิต ใช้เพราะเกิดความสะดวกที่ไม่ต้องพกเงินสด และได้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากบัตรเครดิต ดังนั้นควรจะชำระเงินเต็มจำนวน และตรงเวลา เพื่อไม่เกิดดอกเบี้ยจะเป็นเรื่องที่ดีที่สุด