รีวิว Money Lover แอปบันทึกรายรับรายจ่าย ตัวช่วยเก็บเงินให้ดียิ่งขึ้น

21K

รีวิว Money Lover แอปบันทึกรายรับรายจ่าย สำหรับใครที่มองแอปพลิเคชันดี ๆ เพื่อช่วยในการติดตามค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะบนสมาร์ทโฟน ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า โลกของการเงินขั้นพื้นฐานคือการบันทึกรายรับรายจ่าย อยากรู้ว่ามีเงินเข้าเท่าไร และมีรายจ่ายแค่ไหน หมดค่าใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง ในยุคปัจจุบันจะให้มาจดลงกระดาษก็อาจไม่สะดวกสักเท่าไร ทาง rabbitor.net เลยจะมารีวิว Money Lover เป็นแอปที่ผู้เขียนใช้มาอย่างยาวนาน เหมาะมากสำหรับคนที่ต้องการบันทึกค่าใช้จ่ายให้ติดเป็นนิสัย

รีวิว Money Lover ฟีเจอร์เด็ด กับกระเป๋า 4 แบบ

รีวิว Money Lover
มีกระเป๋าสตางค์ทั้งหมด 4 แบบ ตอบสนองความต้องการผู้ใช้งานที่ไม่เหมือนกัน

ด้วยแอป Money Lover เองนั้น จะมีประเภทกระเป๋าสตางค์ได้ 4 แบบ ด้วยกัน ตามวัตถุประสงค์ที่เราต้องการ และตอบโจทย์ผู้ที่ชื่นชอบการทำรายรับรายจ่าย มาดูกันดีกว่าว่ามีกระเป๋าแบบไหนบ้าง

Basic Wallet กระเป๋าสตางค์แบบทั่วไป ใช้เองกรอกเอง

รีวิว Money Lover

เรียกว่าเป็นกระเป๋าสตางค์แบบพื้นฐานโดยทั่วไปที่ทุกคนจำเป็นต้องใช้ โดยเราจำเป็นที่จะต้องบันทึกรายรับรายจ่ายด้วยตัวเองเป็นหลัก ซึ่งมีการสรุปรายรับรายจ่ายเป็นรายเดือนได้ ดูเป็นกราฟแท่งหรือกราฟวงกลม ซึ่งดูได้ง่ายมากว่าทั้งเดือนเรามีรายได้เข้ามาเท่าไร และมีรายจ่ายเท่าไร รายจ่ายหมดไปกับอะไรมากที่สุด ทำให้เรามาวิเคราะห์ได้ว่ารายจ่ายตรงไหนที่เราควรจะปรับลด

Linked Wallet กระเป๋าสตางค์แบบที่เชื่อมต่อกับบัญชีธนาคารในไทย

รีวิว Money Lover
สามารถเชื่อมต่อกับบัญชีธนาคารในไทยได้ เพื่อดู Transaction

สำหรับคนที่ขี้เกียจ และไม่ชอบจดบันทึกรายรับรายจ่ายเอง Money Lover ก็มีกระเป๋าสตางค์แบบ Linked Wallet กับบัญชีธนาคารในไทย ที่จะช่วยแสดงรายรับรายจ่ายกับบัญชีที่เราเชื่อมต่อกันไว้ในแอป Money Lover ได้เลย แต่ว่ามีค่าใช้จ่ายสำหรับการใช้บริการนี้เป็นแบบ Subscription เบื้องต้นด้วย (79 บาท/เดือน, 409 บาท/6 เดือน และ 749 บาท/ 1 ปี)

โดยธนาคารในไทยที่สามารถเชื่อมต่อกับ Money Lover ได้ก็จะมี SCB, ttb, KBank, BBL, BAY และ PayPal ก็สามารถเชื่อมต่อได้เช่นกันถึงแม้จะไม่ได้เป็นธนาคาร

Goal Wallet กระเป๋าสตางค์เพื่อเก็บเงินให้ถึงเป้าหมายโดยเฉพาะ

รีวิว Money Lover
ไว้สำหรับการเก็บเงินที่มีเป้าหมายที่ชัดเจน มีระยะเวลาบอกว่าเก็บถึงวันไหน ที่ผ่านมาเก็บได้เท่าไรแล้ว และเดือนนี้ควรเก็บเท่าไร

ส่วนตัวชอบฟีเจอร์นี้มาก เนื่องจากว่าเป็นคนที่เมื่อเห็นตัวเลขในบัญชีเยอะขึ้น จะรู้สึกมีความสุข (แน่นอนว่าตอนใช้เยอะ ๆ ก็มีความสุขเช่นกัน!) ใครที่ชื่นชอบการเก็บเงิน เราสามารถสร้าง Goal Wallet โดยกำหนดเป้าหมายเป็นจำนวนเงินที่เราตั้งเป้าจะเก็บให้ถึง และตามด้วยระยะเวลาที่เราต้องการว่าจะเก็บถึงวันไหน เมื่อสร้างเสร็จแล้ว จะมีมาตรวัดว่าในวันนี้ คุณควรจะเก็บเงินได้เท่าไร เพื่อให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้

โดยเอาไปประยุกต์ใช้ได้หลายแบบมาก ส่วนตัวชอบเอามาใช้กับค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่อย่างค่าใช้จ่ายจัดฟัน และค่าใช้จ่ายทำประกันชีวิตหรือสุขภาพ เช่นอย่างค่าประกันชีวิตและสุขภาพ ส่วนตัวจะชอบการจ่ายรายปีมากกว่ารายเดือน (เพราะว่ารวมเป็นเงินแล้วมันน้อยกว่า ถึงแม้จะจ่ายเป็นก้อนใหญ่ก็ตาม) มี Money Lover ฟังก์ชัน Goal Wallet ทำให้เราแบ่งเก็บเงินในแต่ละเดือนจนกว่าครบตามที่เราต้องการ จากนั้นค่อยถอนเพื่อชำระค่าประกัน ทำให้เราบริหารค่าใช้จ่ายได้ง่ายมาก ไม่ต้องตาลีตาเหลือกหาเงินก้อนใหญ่เพื่อมาจ่ายอีกต่อไป อันนี้ดีจริง คอนเฟิร์ม ชอบใช้มาก

Credit Wallet บัญชีเพื่อบันทึกการใช้จ่ายบัตรเครดิตโดยเฉพาะ

แอป Money Lover
ใส่วงเงิน พร้อมวันตัดรอบบัตร และวันที่ครบกำหนดจ่ายได้เลย

ใครที่ติดตาม rabbitor.net มานานพอสมควร จะรู้ว่าผู้เขียนรีวิวบัตรเครดิตไปหลายใบ การจัดการบัตรเครดิตหลายใบนั้น ก็ไม่ง่ายถ้าใช้ความจำเอง เพราะอาจทำให้สับสนได้ วันตัดรอบวันไหน วันจ่ายวันไหน ใบไหนมีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยกี่วัน การที่จะรีดผลประโยชน์สูงสุดจากบัตรเครดิต คือการจ่ายเต็มตามกำหนดเวลา ก็จะไม่มีดอกเบี้ย

Money Lover จึงตอบโจทย์คนใช้บัตรเครดิตด้วย Credit Wallet เป็นกระเป๋าสตางค์สำหรับคนที่ใช้บัตรเครดิต เราระบุวันตัดรอบบัตรและกำหนดจ่ายวันสุดท้ายได้ (แนะนำว่าให้ระบุวันที่จ่ายก่อนหน้าวันจริงสัก 2-3 วัน เพราะจำนวนวันแต่ละเดือนไม่เท่ากัน ในแอพจะเป็นวันที่เราระบุไว้ทุกเดือน แต่วันตัดรอบระบุเป็นวันจริงได้เลย) แล้วก็ระบุวงเงินลงไป จากนั้นก็ใช้งานบัตรเครดิตตามปกติ แล้วก็เราก็บันทึกการใช้จ่ายแบบมือลงไปด้วย ทำให้เราระบุค่าใช้จ่ายได้ทั้งหมด รวมทุกบัตรมาอยู่ในแอป Money Lover

ฟีเจอร์อื่นของ Money Lover ที่ควรรู้

ที่กล่าวมาด้านบนนั้นเป็นฟีเจอร์ลักษณะของกระเป๋าสตางค์เป็นหลัก แต่ว่า Money Lover นั้นมีฟีเจอร์อื่น ๆ อีกมาก ถึงจะเป็นฟีเจอร์เล็ก ๆ น้อย ๆ ทาง rabbitor.net เห็นว่าน่าจะเป็นฟีเจอร์ที่ใช้งานได้จริง เลยมารีวิวกัน

ไอคอนมีให้เลือก (ซื้อ) มากมาย ตอบโจทย์ทุกกระเป๋า

แอปบันทึกรายรับรายจ่าย
ไอคอนมีให้เลือกซื้อเยอะมาก เป็นแบบซื้อขาด ราคาเริ่มต้นต่อแพ็กอยู่ที่ 59 บาท

ไอคอนมีให้เลือกซื้อเยอะมาก ส่วนมากแบ่งขายเป็นเซ็ตคู่รัก เซ็ตมนุษย์เงินเดือน เซ็ตธนาคารในประเทศไทย เซ็ตแก็ดเจ็ต เซ็ตรายได้ต่าง ๆ  เพราะถ้าเรามีกระเป๋าจำนวนมาก เราก็ยิ่งแบ่งแยกหมวดหมู่มากขึ้น ตัวไอคอนเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ Money Lover น่าใช้งานมากขึ้น ราคาเริ่มต้นต่อเซ็ตอยู่ที่ 59 บาท เซ็ตนึงมีอย่างน้อยที่ 16 ไอคอน เราก็สามารถเลือกซื้อเซ็ตที่เราคิดว่าจะได้ใช้จริง ๆ ได้

มีฟังก์ชัน Debt/Loan ตอบโจทย์เจ้าหนี้ลูกหนี้

แอปบันทึกรายรับรายจ่าย
มีฟังก์ชัน Debt/Loan เจ้าหนี้ลูกหนี้ทั้งหลายถูกใจสิ่งนี้

สำหรับใครที่ให้คนอื่นยืมเงินเยอะ หรือเป็นลูกหนี้ Money Lover ก็มีฟีเจอร์ Debt/Loan ให้ใช้งาน เพียงแค่กดปุ่มเพิ่ม Transaction แล้วเลือก Debt/Loan จากนั้น ก็ให้เลือกว่าเราเป็นฝ่ายให้ยืม หรือเราเป็นฝ่ายถูกยืม เพิ่มรายชื่อคนจากในโทรศัพท์ และยังมีกำหนดเวลาเมื่อถึงเวลาเรียกเก็บหรือต้องส่งคืนทำให้เราไม่ลืมด้วย ทำให้ฟีเจอร์นี้ถูกใจผู้เขียนมาก (อนุญาตให้เดาได้ว่าผู้เขียนอยู่ฝ่ายให้ยืมหรือฝ่ายยืมคนอื่น 555)

ในแต่ละค่าใช้จ่ายหรือ Transaction สามารถเพิ่มรูปละรายละเอียดได้อย่างละเอียดยิบ

แอปบันทึกรายรับรายจ่าย
แต่ละ Transaction เพิ่มรายละเอียดได้เยอะมากตั้งแต่ ที่ไหน เมื่อไร แจ้งเตือน กับใคร เพิ่มรูปเพื่อเตือนความจำได้

ในแต่ละ Transaction เราสามารถเพิ่มรายละเอียดเพื่อจดบันทึกความจำได้ ไม่ว่าจะเป็น Note รายละเอียดสั้น ๆ รูปภาพ (ชอบแนบรูปสลิปค่าใช้จ่าย) เพิ่มโลเคชั่น เพิ่มการแจ้งเตือน หรือเพิ่มบุคคลได้ด้วย ทำให้รายละเอียดของแต่ละ Transaction เติมเต็มขึ้น และเราไม่ลืมว่าค่าใช้จ่ายอันนี้เกิดจากอะไร แต่ส่วนมากแล้วผู้เขียนมักจะใช้กับค่าใช้จ่ายใหญ่ ๆ มากกว่าค่าใช้จ่ายเล็ก ๆ

มีระบบ Transfer Money, Adjust Budget และแชร์กระเป๋าสตางค์ใช้งานร่วมกัน

สำหรับใครที่มีบัญชีจำนวนมาก และมีการโอนเงินสลับไปมาระหว่างแต่ละบัญชีบ่อย ๆ แน่นอนว่า Money Lover นั้น ให้ฟีเจอร์นี้มาด้วย การบันทึกการโอนเงินในแต่ละบัญชีก็ใช้งานไม่ยาก

ส่วนการ Adjust Budget นั้นเป็นการแก้ Pain Point คนที่ชอบการบันทึกรายรับรายจ่าย เคยเป็นกันไหมว่าจำนวนเงินในบัญชีจริง ไม่ตรงกับแอปที่บันทึกรายรับรายจ่าย สำหรับแอปอื่นอาจต้องเพิ่ม Transaction รายได้หรือรายจ่ายให้เลขตรงกัน แต่ Money Lover แก้ไขตรงนี้แค่ใช้งาน Adjust Budget กรอกตัวเลขที่ต้องการ บัญชีนั้นก็จะเป็นตัวเลขที่เราต้องการในทันที

สุดท้ายคือการแชร์กระเป๋าสตางค์ของ Money Lover ให้กับบุคคลอื่นที่ใช้แอปเดียวกัน อันนี้ค่อนข้างโอเคเลย เนื่องจากว่าบางคนอยากจะใช้แอปที่บันทึกรายรับรายจ่าย อยากจะแชร์ให้กับแฟนหรือคนในครอบครัวได้ คนที่ถูกแชร์ก็สามารถดูและเพิ่ม Transaction ได้เช่นกัน เหมาะมากกับคู่รักที่ต้องการจะเก็บเงินด้วยกัน มีการเปิดบัญชีร่วมกัน

จุดที่ควรพิจารณาของ Money Lover

หลังจากที่เราฟังจุดเด่นและฟีเจอร์ต่าง ๆ ของแอป Money Lover คราวนี้เราจะมาบอกถึงจุดที่ควรพิจารณาของการใช้แอพ Money Lover กันดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง

  • Money Lover ใช้ฟรีแต่ก็มีข้อจำกัดค่อนข้างมาก ต้องเป็นตัว Premium จึงจะได้เกือบครบ
    แน่นอนว่าแอป Money Lover จึงจะใช้ได้ฟรี แต่ก็มีข้อจำกัดอยู่มาก คุณจะใช้ได้เพียงการสร้างบัญชีกระเป๋าสตางค์ได้แค่บัญชีเดียวเท่านั้น และสร้าง Budget, Event ก็สร้างได้เพียงอย่างเดียวเช่นกัน แถมยังมีโฆษณาด้วย แต่ถ้าคุณต้องการมากกว่านั้นด้วยเวอร์ชัน Premium ก็ต้องจ่ายเพิ่ม สร้างสร้างบัญชี Budget และ Event ได้ไม่จำกัด ปราศจากโฆษณา พร้อมทั้งยังสามารถ Export เป็น CSV/Excel ได้ด้วย และยังมีการแบ็คอัพสามารถใช้ Device ได้หลากหลาย ราคา Premium ต่อปีอยู่ที่ 569 บาท
  • ถ้าต้องการใช้งาน Linked Wallet ก็ต้องจ่ายเพิ่มเป็น Subscription แยกอีก
    ยังไม่พอแค่นี้ ถ้าต้องการใช้บริการ Linked Wallet เพิ่มเติม เชื่อมต่อกับบัญชีธนาคารในไทยแบบอัตโนมัติ คุณก็ต้องจ่ายเพิ่มเดือนละ 79 บาท / 6 เดือน 409 บาท / 1 ปี 749 บาท ต่อให้คุณใช้งานแบบ Premium ก็จะยังไม่มีบริการ Linked Wallet อยู่ดี เป็นการเก็บค่าบริการที่ดูซ้ำซ้อนไปหน่อย
  • บัญชีบัตรเครดิต Credit Wallet ยังไม่มีระบบผ่อนชำระ
    เท่าที่ลองใช้แบบ Premium และใช้งานบัญชีบัตรเครดิต ยังไม่มีระบบ Installment หรือผ่อนชำระ ซึ่งแตกต่างจาก Piggipo ที่เป็นแอปสำหรับติดตามค่าใช้จ่ายบัตรเครดิตโดยเฉพาะ ทำให้ลำบากบอกสมควรคือเราต้องกรอกมือและจดบันทึกใหม่ทุกครั้งในแต่ละเดือน ยังดีว่าสามารถตั้งเวลาให้แจ้งเตือนได้ และยังไม่มีการแจ้งเตือนที่บัญชีบัตรเครดิตโดยตรง เมื่อถึงเวลาต้องจ่าย ซึ่งผู้เขียนเองก็ต้องมาตั้งแอป Reminders ของ iPhone เอง เหมือนมีไว้เพื่อดูและบันทึกอย่างเดียวจริง ๆ

รีวิว Money Lover สามารถใช้งานหรือดาวน์โหลดที่ไหนบ้าง และราคาเท่าไร

แอปการเงิน
ราคาก็ไม่ธรรมดาจ้า เป็นระบบ Subscription เฉพาะการซื้อไอคอนเท่านั้นที่เป็นการซื้อขาด

รีวิว Money Lover เราสามารถใช้งานได้ 3 แพลตฟอร์มด้วยกันทั้งบนเว็บไซต์ และแอปพลิเคชันบน iOS, Android ส่วนราคานั้นคือฟรี สำหรับเบสิค สามารถใช้งานได้ 1 Wallet Event, Budget เท่านั้น แต่ถ้าต้องการความพิเศษเพิ่มเติม ก็มีราคาที่ต้องจ่าย

  • Premium
    เป็นราคา Subscription ต่อปีอยู่ที่ 569 บาท สิ่งที่คุณจะได้คือ ไม่มีโฆษณา, ไม่จำกัดบัญชี Wallet, Export เป็น csv/Excel ได้
  • Budget Plus
    ราคา 79 บาทต่อเดือน ฟีเจอร์มีความคล้ายคลึงกับ Premium และเพิ่มส่วนที่เป็นคำแนะนำช่วยพยากรณ์ค่าใช้จ่ายในอนาคตได้
  • Linked Wallet
    เชื่อมต่อแอป Money Lover กับบัญชีธนาคารในไทยอย่างเช่น SCB, ttb, KBank, BBL, BAY รวมไปถึง PayPal ทำให้เราไม่ต้องบันทึกรายรับรายจ่ายด้วยมืออีกต่อไป โดยมีค่าใช้จ่ายแบบ Subscription ต่อเดือน 79 บาท, ต่อ 6 เดือน 409 บาท และต่อปีอยู่ที่ 749 บาท
  • ไอคอนสำหรับปรับแต่งแต่ละบัญชี
    ในแอปนั้นมีไอคอนแบบพื้นฐาน ซึ่งมีให้เลือกมากอยู่แล้ว แต่ถ้าต้องการไอคอนสวย ๆ หรือต้องการความหลากหลายมากขึ้น ก็มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม เป็นการซื้อขาดไปเลย โดยแบ่งขายเป็นต่อเซ็ต เริ่มต้นเซ็ตละ 59 บาท (แต่ละเซ็ตมีจำนวนไอคอนไม่เท่ากัน ส่วนมากอยู่ที่ 10+)

ข้อแนะนำในการใช้แอปพลิเคชัน Money Lover

แอป Money Lover นับว่าเป็นแอปที่ดีมากที่ช่วยบันทึกรายรับรายจ่ายได้เป็นอย่างดี โดยส่วนตัวใช้มานานมากแล้ว ระดับ 3 ปี ขึ้น ทำให้เราติดตามเงินและค่าใช้จ่ายได้ว่าเงินรั่วไหลไปไหน และมีรายรับตรงไหนบ้าง ถ้าต้องการจะซื้อ แนะนำเป็นการซื้อแบบ Premium ก็เพียงพอแล้ว เพราะส่วนมากคนเรามักจะมีหลายบัญชี ทำให้ใช้ประโยชน์ได้สูงสุด ส่วนฟีเจอร์อื่น ๆ  อย่าง Linked Wallet รู้สึกว่าไม่ค่อยจำเป็น เพราะเราเป็นคนชอบบันทึกเองมากกว่า ส่วนไอคอนนั้นขึ้นอยู่กับความพึงพอใจ โดยภาพรวมค่อนข้างแนะนำเลยสำหรับแอป Money Lover ที่จะช่วยเปลี่ยนนิสัยเราให้เราจดบันทึกรายรับรายจ่ายมากขึ้น

rabbitor.net

ติดตาม Social Media และเว็บไซต์ในเครือได้ที่นี่
Close
💚 เลือกหัวข้อที่ต้องการอ่านได้เลย! เจอคอนเทนต์ที่ถูกใจอ่านจบแล้ว แชร์ให้ด้วยนะ💚
Close