รีเทนชั่นบ้าน รีวิว มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง จากประสบการณ์จริง และทำไมควร Retention บ้าน

98

รีเทนชั่นบ้าน รีวิว เรียกได้ว่าเป็นรีวิวต่อเนื่องหลังจากที่ซื้อบ้านมาครบเป็นปีที่ 3  แล้ว แน่นอนว่าก็ต้องมารีวิวการรีเทนชั่น ซึ่งสินเชื่อบ้านที่ตัวเองมีอยู่นั้นกำลังจะหมดโปรโมชั่นที่ดอกเบี้ยต่ำ 3 ปีแรก และหลังจากนี้จะปรับเป็นดอกเบี้ยที่ไม่มีโปรโมชันแล้ว เลยจำเป็นมาก ๆที่ต้องค้นหาข้อมูลว่าจะทำรีเทนชั่น เพื่ออยู่กับธนาคารเดิม หรือว่ารีไฟแนนซ์เพื่อย้ายไปธนาคารใหม่ดี

แต่แอบสปอยล์เลยว่า เมื่อได้หาข้อมูลและเปรียบเทียบแล้ว รวมไปถึงการขอรีเทนชั่นและรีไฟแนนซ์กับธนาคารอื่น เลยเลือกรีเทนชั่นเพื่ออยู่กับธนาคารเดิม เลยจะมารีวิวขั้นต่อต่าง ๆ กับการทำรีเทนชั่นบ้าน

ทำความเข้าใจกับ รีเทนชั่น (Retention) กับ รีไฟแนนซ์ (Refinance) กันก่อนว่าแตกต่างกันอย่างไร

ก่อนที่เราจะเข้าเรื่อง มาทำความเข้าใจกันให้เคลียร์ก่อนว่า รีเทนชั่น และรีไฟแนนซ์มีความแตกต่างกันอย่างไร

  • รีเทนชั่น (Retention)
    คือการปรับขอลดดอกเบี้ยบ้านกับธนาคารเดิมที่เรามีสินเชื่อที่อยู่อาศัยอยู่แล้ว ซึ่งการขอรีเทนชั่นจะสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อ สินเชื่อบ้านของเราหมดโปรโมชั่นแล้ว ซึ่งแต่ละธนาคารและแต่ละสัญญามีระยะเวลาโปรโมชั่นนี้ไม่เท่ากัน แต่โดยปกติมักจะเป็นหมดในช่วง 3 ปีแรก

    โดยการขอรีเทนชั่นนั้น เนื่องจากว่าเป็นการขอลดดอกเบี้ยบ้านจากธนาคารเดิม ซึ่งจะพิเศษตรงที่ว่าเราแทบไม่ต้องยื่นเอกสารใหม่เลย เพราะธนาคารรู้จักเราดีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลในการผ่อน การประกอบอาชีพ รวมไปถึงรายได้ เพราะข้อมูลนี้มีอยู่แล้วที่เรายื่นขอสินเชื่อในครั้งแรกนั่นเอง เลยค่อนข้างสะดวก ตอบโจทย์คนที่ไม่ชอบเรื่องเอกสาร และลดความยุ่งยากไปได้มาก

  • รีไฟแนนซ์ (Refinance)
    คือการย้ายธนาคาร เพื่อขอสินเชื่อบ้านใหม่ เพื่อให้ได้ดอกเบี้ยโปรโมชันอีกครั้ง ซึ่งแน่นอนว่าหลายธนาคารต่างออกโปรโมชันสินเชื่อบ้านดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งเมื่อเราหมดสัญญากับธนาคารเดิมแล้ว ก็ย้ายมาธนาคารใหม่ได้ แต่ว่าการรีไฟแนนซ์นั้นมักจะต้องทำการยื่นเอกสารใหม่ทั้งหมด เพราะเป็นการขอสินเชื่อใหม่ ทำให้เราต้องยื่นเอกสารรายได้ใหม่ และมักจะมีค่าจดจำนอง ค่าอากรแสตมป์ ค่าประเมินบ้าน ค่าประกันอัคคีภัย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เหมือนกันตอนที่เราซื้อบ้านใหม่เลย แต่ทว่าก็ขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคารว่าอาจจะมีโปรโมชันได้

ทำไมถึงเลือก Retention มากกว่า Refinance

ต้องเล่าก่อนว่าเราได้ทำสินเชื่อบ้านกับธนาคารเกียรตินาคินภัทร (ขอเรียกชื่อย่อว่า KKP) ตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว (ปี 2564) เนื่องจากว่าตอนนั้นเป็นเรื่องของดอกเบี้ยที่เหมาะสมที่ใน ในเกณฑ์ที่เรารับได้ และเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ดีที่สุด ณ ช่วงเวลาขณะนั้น ซึ่งเราก็ได้สินเชื่อมา 3 สินเชื่อด้วยกัน คือ

  • สินเชื่อบ้าน 3,990,000 บาท
  • สินเชื่ออเนกประสงค์ 200,000 บาท
  • สินเชื่อประกัน ประมาณ 140,000 บาท

รวมสินเชื่อทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 4,330,000 บาท ซึ่งเราก็เรียกว่าเป็นลูกหนี้ที่ดี (ล่ะมั้ง ตั้งตำแหน่งให้เอง) เพราะจ่ายค่างวดที่ตรงต่อเวลา ไม่มีการจ่ายช้าแต่อย่างใด และมีการโปะเรื่อยๆ จนกระทั่ง 3 ปีถัดมาถึงปี 2567 ทำให้เราเคลียร์สินเชื่ออเนกประสงค์ และสินเชื่อประกัน เรียกว่าปิดทั้งหมด เหลือเฉพาะสินเชื่อบ้าน ยอดคงเหลือประมาณ 3,740,000 บาท

ในช่วงนั้นดอกเบี้ยถือว่าดีมาก อยู่ที่ 2.45% เท่านั้น (สินเชื่ออเนกประสงค์ 2.75%) แต่ก็มีการขึ้นดอกเบี้ยเพราะนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ทยอยขึ้นมา เนื่องจากที่เราได้เลือกไว้ในช่วง 2 ปีหลังเป็นดอกเบี้ยแบบลอยตัว ไม่ใช่ดอกเบี้ยแบบคงที่ เลยทำให้ในปัจจุบันดอกเบี้ยของสินเชื่อบ้านอยู่ที่ 4.1% และถ้าหมดโปรโมชั่น 3 ปีแล้ว ดอกเบี้ยจะพุ่งสูงมากกว่านี้อีก เลยทำให้เราจำเป็นที่จะต้องเลือกหาวิธีที่จะลดดอกเบี้ยลง นั่นก็มีเพียงแค่ 2 วิธี นั่นคือการทำรีเทนชั่น ไม่ก็รีไฟแนนซ์

ทำให้เราก็ทยอยที่จะหาธนาคารรีไฟแนนซ์ก่อน จริง ๆ เราเลือกหาหลายธนาคารมาก ไม่ว่าจะเป็น UOB, CIMB, กรุงศรี แต่ช่วงนั้นไปสอบถามไว้ก่อน 2-3 เดือนก่อนที่จะหมดโปรโมชันกับ KKP เลยยังไม่มีธนาคารไหนรับเคส เนื่องจากว่าจำเป็นที่จะต้องใกล้ ๆ ก่อน เช่น ระยะเวลาเพียง 1 เดือนเท่านั้น แต่พนักงานธนาคารก็ให้แจ้งดอกเบี้ยให้เราคร่าว ๆ ซึ่งตอนนั้นมีเพียงธนาคาร UOB เจ้าเดียวที่แจ้งเรามา แต่บอกว่าเป็นเดือนต่อเดือน ซึ่งอยู่ที่ราว ๆ 3.0%-3.20%

แต่พอได้คุยไปคุยมา ก็ทำให้เราค่อนข้างหมดหวังกับการรีไฟแนนซ์ เพราะว่าเราเป็นเจ้าของกิจการ ซึ่งกิจการที่เราก่อตั้งมาราว  6 เดือนเท่านั้น ซึ่งโดยปกติทางธนาคารจะพิจารณาคนกลุ่มนี้ก็คือต้องตั้งกิจการมาอย่างน้อย 2-3 ปี (แน่นอนว่าตอนที่เรายื่นกู้สินเชื่อบ้านกับ KKP ช่วง 3 ปีก่อน เราเป็นพนักงานประจำ ทำให้กู้ง่ายพอสมควร จำได้ว่ายื่นกู้ 5 ธนาคาร ผ่าน 4 ธนาคารเลยทีเดียว) ทำให้เรารู้สึกว่าไม่ค่อยอยากไปต่อกับการรีไฟแนนซ์เพราะน่าจะติดเรื่องนี้ (เอาจริง ๆ เราก็ควรยื่นกู้ไปก่อน ผ่านไม่ผ่านค่อยว่ากันอีกที แต่ดันนอยด์ไปก่อน)

เลยเป็นผลให้ว่าเราก็เลือกอีกทางเลือกนึง นั่นคือการรีเทนชั่นนั่นเอง ซึ่งก่อนที่เราจะขอรีเทนชั่น เราเลยไปพบกับทางธนาคาร KKP สาขาใกล้บ้านผู้เขียนซึ่งทางสาขาก็บอกว่าสามารถโทรติดต่อผ่าน Call Center ได้เลย เพราะเราเป็นลูกค้าอยู่แล้ว จะรวดเร็วกว่าสาขาส่งเรื่องให้นั่นเอง

ขั้นตอนในการขอ รีเทนชั่นบ้าน รีวิว กับธนาคาร เกียรตินาคินภัทร KKP

ก่อนที่จะเข้าขั้นตอนวิธีการ จริงๆแล้วก็น่าจะสามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกธนาคาร เพราะการรีเทนชั่นนั้นไม่ยุ่งยากเหมือนการรีไฟแนนซ์

  • ติดต่อ Call Center กับทางธนาคาร KKP
    เบอร์ติดต่อ Call Center ของ ธนาคาร KKP คือหมายเลข 02-165-5555 ซึ่งเราก็ติดต่อไปในส่วนของสินเชื่อบ้านโดยตรง โดยแจ้งความประสงค์ว่าต้องการจะรีเทนชั่นบ้าน
  • ส่งเอกสารสำเนาบัตรประชาชน เพื่อยืนยันความต้องการในการรีเทนชั่น
    จากนั้นทาง Call Center ก็แจ้งว่าเราจำเป็นจะต้องส่งเอกสารสำเนาบัตรประชาชนไปยังอีเมลของ KKP เพื่อยืนยันความประสงค์ในการขอรีเทนชั่น แล้วทาง Call Center จะนำส่งเรื่องไปยังเจ้าหน้าที่สินเชื่อบ้านโดยตรง
  • รอการติดต่อจากเจ้าหน้าที่สินเชื่อบ้านกลับ
    เรียกได้ว่าเร็วมาก เพราะจำได้เลยว่าเราส่งเอกสารไปเมื่อวันที่ 30 กันยายน และทางเจ้าหน้าที่สินเชื่อติดต่อมาแจ้งข้อมูลเรื่องของดอกเบี้ยว่าเป็นอย่างไร และจะนัดเซ็นสัญญาได้เมื่อไร ซึ่งของเรานั้นดอกเบี้ยที่ทางเจ้าหน้าที่แจ้งมา คือเป็นดอกเบี้ยแบบลอยตัว (โดยทาง KKP ใช้อิงดอกเบี้ยจาก MLR ซึ่งต่างจากธนาคารอื่นที่อิงดอกเบี้ย MRR) โดยดอกเบี้ยลอยตัวอยู่ที่ 2.975% ต่อปี นับว่าเรตดอกเบี้ยที่น่าสนใจ และค่อนข้างถูกใจมากเลยทีเดียว (*ข้อมูลเมื่อ พฤศจิกายน 2567)

    ซึ่งปัจจุบันนี้ เราได้ดอกเบี้ยลอยตัวที่ยังไม่หมดโปรด้วยเรต 4.10% และถ้าพ้น 3 ปีแรกจะปรับขึ้นอีก เป็น 6.3% ถ้าไม่รีเทนชั่น หรือรีไฟแนนซ์อัตราดอกเบี้ยจะสูง และอัตราการผ่อนก็จะมากขึ้นด้วย แต่ถ้าอย่างที่บอกเรารีเทนชั่น ก็จะได้อัตราดอกเบี้ยลอยตัวอยู่ที่ 2.975% ซึ่งถือว่าได้เรตที่ค่อนข้างถูกใจ และถ้าเทียบดอกเบี้ยกับการรีไฟแนนซ์กับธนาคารอื่น ก็ไม่ต่างกันมาก อาจจะต่ำกว่าแค่ช่วงปีแรก แต่ถ้าเป็นเทียบเฉลี่ย 3 ปีแล้ว ก็แทบจะไม่ต่างกันเลย เราเลยรู้สึกว่าการรีเทนชั่นอยู่ที่เดิมน่าจะเป็นหนทางที่เหมาะสมกว่า
  • ติดต่อนัดเซ็นสัญญาที่สาขาของ KKP ที่สะดวก
    จากนั้นทางคอลเซ็นเตอร์ก็จะแจ้งวันที่เราสะดวกว่าเราจะเซ็นสัญญาได้วันไหน ซึ่งวันที่จะเซ็นสัญญาจะต้องเป็นวันหลังหมดสัญญาแล้ว โดยเลือกวันที่สะดวกได้เลย ส่วนสาขานั้นก็เลือกสาขาที่เราสะดวกได้เลยเช่นกัน
  • เซ็นสัญญาพร้อมกับชำระค่าประกันอัคคีภัย
    จากนั้นก็รอวันที่นัดเซ็นสัญญา โดยของเราเองการรีเทนชั่นนี้จะได้ดอกเบี้ยพิเศษไปอีก 3 ปี และหลังจากนั้นก็สามารถขอรีเทนชั่นหรือจะรีไฟแนนซ์ไปยังธนาคารอื่นได้อีกครั้ง และต้องชำระค่าประกับอัคคีภัยด้วย เนื่องจากประกันอัคคีภัยกรมธรรม์เดิมก็จะหมดอายุใน 3 ปีแรกเช่นกัน เลยต้องทำต่อ ของเราชำระค่าประกันอัคคีภัยสำหรับ 3 ปีอยู่ที่ 5,500 บาท (ราคาค่าประกันไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับมูลค่าบ้าน และวงเงินเอาประกัน) เพียงเท่านี้การรีเทนชั่นบ้านก็เสร็จเรียบร้อย

ในการรีเทนชั่นกับ KKP ในครั้งนี้ ได้เรตดอกเบี้ยอยู่ที่เท่าไร

  • ดอกเบี้ยเป็นแบบลอยตัว MLR -5.075%
  • ดอกเบี้ย MLR ปัจจุบันของ KKP อยู่ที่ 8.050% (ข้อมูล พ.ย. 2567)
  • ดอกเบี้ยที่ได้รับ 8.050%-5.075% = 2.975%
  • ระยะเวลา 3 ปี
  • ผ่อนขั้นต่ำ 16,000 บาท/เดือน
  • ยอดสินเชื่อคงเหลือ 3,740,000 บาท

สิ่งที่ควรจะต้องดูเมื่อจะ รีเทนชั่นบ้าน รีวิว

  • ดอกเบี้ยที่ได้รับ
    แน่นอนว่าเป็นสิ่งแรกเลยว่าเป็นดอกเบี้ย โดยในขั้นแรก ก็ให้ลองดูก่อนเลยว่าเป็นดอกเบี้ยแบบลอยตัวหรือว่าแบบคงที่ ซึ่งทั้งสองอย่างก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป แต่ถ้าจะให้ดูก็ที่อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยในช่วงเวลาสัญญา ว่าเป็นไปตามที่คาดหวังหรือไม่ แต่ถ้าไม่เป็นไปตามที่คาดหวังก็สามารถต่อรองได้ หรือจะรีไฟแนนซ์เพื่อไปธนาคารอื่นก็ได้เช่นกัน
  • อัตราการผ่อนต่อเดือน
    อัตราการผ่อนต่อเดือนนั้น ก็จะเป็นอีกอย่างที่ควรจะต้องรู้ไว้ เพราะก่อนหน้าที่เราจะรีเทนชั่น เราจะจ่ายต่อเดือนขั้นต่ำที่ 14,700 บาท ต่อเดือน และถ้ารีเทนชั่นก็สามารถเลือกได้ว่าจะให้ผ่อนขั้นต่ำ 16,000 บาท ต่อเดือน หรือ 22,000 บาท ต่อเดือน ซึ่งส่วนตัวเลือกที่ 16,000 บาท ต่อเดือน เพราะว่าเน้นจำนวนผ่อนให้ต่ำไว้ก่อน เพราะเน้นเรื่องของสภาพคล่องเป็นหลัก ถึงแม้ว่าเราจะโปะทุกเดือนอยู่แล้วก็ตาม
  • ระยะเวลาที่มีผล
    ให้สอบถามว่าช่วงเวลาที่โดนปรับดอกเบี้ยใหม่หลังจากที่รีเทนชั่นเป็นเมื่อไหร วันไหนที่มีผล วันไหนที่เป็นดอกเบี้ยที่ลอยตัวแล้ว จริง ๆ สามารถสอบถามได้เลย เพราะการที่เรารู้วันที่มีผล ก็จะทำให้เราบริหารจัดการเรื่องเงินของเราได้อย่างเต็มที่นั่นเอง

ระยะเวลาใดที่เหมาะสมกับการขอรีเทนชั่นบ้าน

จากที่สอบถามมา ทั้งแบบรีไฟแนนซ์และรีเทนชั่น แนะนำเลยว่า 1 เดือนก่อนหน้าที่จะหมดสัญญาจะสามารถทำเรื่องได้ แต่ถ้าก่อนหน้านั้นก็จะเป็นเพียงแค่การสอบถามเรตดอกเบี้ยเบื้องต้น เพราะว่าดอกเบี้ยอาจจะมีการปรับเปลี่ยนได้ หลายธนาคารเลยจะรับเรื่องในช่วงที่ใกล้จะหมดสัญญาแล้วนั่นเอง แต่ว่าเราก็สามารถเตรียมตัวไว้ก่อนได้ โดยการเตรียมหลักฐานไว้ให้พร้อม และหาข้อมูลไว้ก่อนได้

ทำอย่างไรถึงจะรีเทนชั่นได้ง่ายมากยิ่งขึ้น

ต้องบอกก่อนว่าหัวข้อนี้จะเป็นเรื่องของความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเอง ไม่ใช่ข้อเท็จจริงหรือข้อมูลที่ได้มาจากธนาคารแต่อย่างใด ซึ่งส่วนตัวได้ปฏิบัติในหลาย ๆ ข้อเลยจะรวบรวมมาในหัวข้อนี้

  • ชำระค่างวดบ้านให้ตรงตามกำหนดเวลา
    เป็นสิ่งที่คิดว่าน่าจะมีผลต่อการรีเทนชั่นและรีไฟแนนซ์สูงสุด เนื่องจากถ้าเราชำระค่างวดบ้านตามกำหนดเวลา ธนาคารก็จะรู้ว่าเรามีระเบียบวินัย และส่งผลดีต่อเครดิตบูโรด้วย ทำให้ธนาคารค่อนข้างมั่นใจได้ว่าเราคือลูกหนี้ชั้นดี (คิดว่านะ) ที่จะมีเงินจ่ายได้ตามค่างวดในทุก ๆ เดือน ลองคิดถึงว่าถ้าเราเป็นเจ้าหนี้ ให้คนรู้จักยืมเงิน แล้วคนรู้จักส่งค่างวดตรงตามเวลาตลอดไม่เคยบิดพลิ้ว ไม่ต้องทวงเงินเลย ถ้าคนนั้นผ่อนจนหมด แล้วคราวหน้ากลับมายืมอีกครั้ง ก็เรียกว่าเราก็ค่อนข้างมั่นใจว่าเขาจะคืนเงินเหมือนเดิมนั่นเอง

    แต่ถ้ากลับกันแล้ว เราส่งค่างวดไม่ตรงเวลา เกิดผิดนัดชำระ จนกระทั่งดอกเบี้ยผิดนัดชำระขึ้นมา ระบบของธนาคารก็จะมีการบันทึกไว้ตลอด พอถึงเวลาจะรีเทนชั่น ก็จะเกิดปัญหาได้ว่าธนาคารเดิมก็ไม่อยากที่จะให้เรารีเทนชั่น (แน่นอนว่าการให้หรือไม่ให้รีเทนชั่นนั้น เป็นสิทธิ์ของธนาคาร) เพราะว่าเราชำระไม่ตรงเวลา และถ้าเราอยากจะย้ายธนาคารหรือรีไฟแนนซ์ แน่นอนว่าการชำระล่าช้าก็จะมีบันทึกในเครดิตบูโร และธนาคารอื่นก็จะเห็นว่าเราส่งค่างวดล่าช้า ธนาคารอื่นก็มักจะไม่ค่อยรับรีไฟแนนซ์สำหรับคนที่เคยส่งล่าช้า ผลลัพธ์ก็กลายเป็นว่าเราก็จะติดกับธนาคารเดิม ที่ดอกเบี้ยสูง จะย้ายไปไหนก็ไม่ได้ ทำให้การส่งค่างวดของเรา ตัดต้นน้อยลง กลายเป็นดอกเบี้ยสูงขึ้น ก็จะผ่อนหนี้บ้านยาวนานขึ้นไปอีกนั่นเอง

    ซึ่งถ้าเราส่งค่างวดตรงเวลา จะกลับกันเลย ทำให้สถานการณ์กลายเป็นเราเป็นต่อ เพราะธนาคารไหน ๆ ก็อยากได้ลูกค้าที่ส่งค่างวดตรงเวลา ถ้าเราจะรีไฟแนนซ์ ก็จะแข่งขันเรื่องของดอกเบี้ยที่ถูกลง หรือถ้าเอาดอกเบี้ยที่รีไฟแนนซ์มาบอกกับธนาคารเดิม ธนาคารเดิมก็อาจจะให้รีเทนชั่นด้วยดอกเบี้ยที่ใกล้เคียงกับรีไฟแนนซ์ก็ได้ เราก็สามารถเลือกธนาคารได้ตามใจ เพราะธนาคารไหน ๆ ก็อยากได้ลูกหนี้ชั้นดีเป็นลูกค้าทั้งนั้น
  • พยายามเคลียร์สินเชื่อประกัน และสินเชื่ออเนกประสงค์ เพื่อให้ง่ายต่อการคำนวณ
    หลายคนที่เคยกู้สินเชื่อบ้าน ก็น่าจะพอทราบว่า ไม่ได้มีแค่สินเชื่อบ้านอย่างเดียว แต่ก็มักจะมาพร้อมกับ สินเชื่ออเนกประสงค์ และสินเชื่อประกัน MRTA แน่นอนว่าถ้าเราผ่อนจ่ายสินเชื่อสองอย่างนี้ไม่หมด ก็ยังสามารถรีเทนชั่นได้ตามปกติ ถ้าเราจ่ายค่างวดตรง แต่ทว่าการคำนวณตรงนี้อาจจะเปลี่ยนไป บางเจ้าอาจจะลดดอกเบี้ยเฉพาะสินเชื่อบ้าน สินเชื่ออเนกประสงค์อาจจะลดได้น้อยหรือลดไม่ได้ก็มี เลยแนะนำว่า ให้โปะในส่วนของสินเชื่ออเนกประสงค์ให้หมดก่อน ซึ่งสินเชื่ออเนกประสงค์นั้นมักจะมีเรตดอกเบี้ยที่สูงกว่าสินเชื่อบ้านอยู่แล้ว และมูลค่าก็จะน้อยกว่าสินเชื่อบ้าน เลยสามารถโปะปิดได้เร็ว ซึ่งผู้เขียนเอง ได้โปะสินเชื่ออเนกประสงค์ก่อนจนหมด ต่อมาเป็นโปะสินเชื่อประกัน MRTA และสุดท้ายคือก็เป็นสินเชื่อบ้านนั่นเอง

สรุป รีเทนชั่นบ้าน รีวิว มีประโยชน์อย่างไร ช่วยเรื่องใดได้บ้าง

การรีเทนชั่นบ้านมีข้อดีหลายอย่าง ขอรวบรวมเป็นข้อ ๆ ดังนี้

  • ช่วยลดดอกเบี้ย ทำให้การผ่อนบ้านของเราตัดเงินต้นมากขึ้น
    เป็นสิ่งแรกเลยที่หลายคนควรคำนึง เพราะจะทำให้ดอกเบี้ยลดลง นั่นหมายความว่าทุกครั้งที่เราจ่ายค่างวดไป จะทำให้ตัดเงินต้นมากขึ้น และทำให้ผ่อนบ้านหมดเร็วขึ้น ช่วยย่นระยะเวลาได้หลายปีเลยทีเดียว
  • ช่วยลดการส่งค่างวดหลังจากหมดโปรโมชั่น
    หลังจากหมดโปรโมชั่นดอกเบี้ย 3 ปีแรกแล้ว มักจะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น และไม่พอค่างวดก็จะสูงขึ้นตาม แต่ถ้าเป็นการรีเทนชั่น จริงๆแล้วเราก็สามารถต่อรองเพื่อลดการส่งค่างวดให้ใกล้เคียงกับช่วง 3 ปีแรกได้เช่นกัน ซึ่งอย่างที่บอกไปว่าของผู้เขียนเองช่วง 3 ปีแรกค่างวดบ้านส่งที่เดือนละ 14,700 บาท และถ้าหมดโปรโมชั่นก็ต้องส่งที่ 22,000 บาท ต่อเดือน แต่เมื่อขอรีเทนชั่น ก็สามารถส่งได้ที่งวดละ 16,000 บาท ซึ่งสูงกว่าเดิมเล็กน้อยเท่านั้น ทำให้สภาพคล่องทางการเงินของเรายังดีเหมือนเดิมนั่นเอง
  • การรีเทนชั่น เมื่อเทียบกับรีไฟแนนซ์ แทบจะไม่ต้องยื่นเอกสารเลย เพราะเป็นการอยู่กับธนาคารเดิม
    การรีเทนชั่นนั้นเป็นอะไรที่ง่ายสุด ๆ เอกสารน้อยมาก ขั้นตอนก็น้อย รู้ผลค่อนข้างไว เพราะเป็นการอยู่กับธนาคารเดิม ซึ่งธนาคารเดิมรู้จักเราอยู่แล้ว ความยุ่งยากเลยน้อยตาม แน่นอนว่าการชำระเงินค่างวดเราถนัดแบบไหนก็ใช้แบบเดิมได้เลย เมื่อเทียบกับการรีไฟแนนซ์จะต้องเป็นการเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด เสมือนการยื่นกู้สินเชื่อบ้านใหม่ ก็ต้องใช้หลักฐานในปัจจุบัน และแน่นอนว่าก็จะมีค่าจดจำนองเพิ่มขึ้นมาอีกด้วย

ทั้งหมดนี้เรียกได้ว่าเป็นประโยชน์ของการรีเทนชั่น ที่จะช่วยให้เราลดดอกเบี้ยบ้านได้ง่าย แถมให้หลักฐานน้อย ขั้นตอนก็ไม่ยุ่งยาก ใครที่มีสินเชื่อบ้านและหมดโปรโมชั่น พ้น 3 ปีแรกมาแล้ว (แล้วแต่สัญญา) ก็ลองติดต่อธนาคารเดิมเพื่อขอรีเทนชั่นได้เลย หรือจะรีไฟแนนซ์ก็ได้เช่นกัน เพื่อผลประโยชน์ของตัวเราเอง เป็นกำลังใจให้กับคนที่ผ่อนบ้านอยู่ทุกคนครับ

rabbitor.net

ติดตาม Social Media และเว็บไซต์ในเครือได้ที่นี่
Close
💚 เลือกหัวข้อที่ต้องการอ่านได้เลย! เจอคอนเทนต์ที่ถูกใจอ่านจบแล้ว แชร์ให้ด้วยนะ💚
Close