ซื้อบ้านหลังแรก รีวิว เลือกบ้านอย่างไร กู้สินเชื่อบ้านธนาคารไหนดี ครบจบในที่เดียว

3.6K

ซื้อบ้านหลังแรก รีวิวกู้ซื้อบ้าน ใครที่ต้องการจะซื้อบ้านหลังแรก ต้องมีคำถามในหัวมากมายว่า เราควรจะเลือกซื้ออย่างไร จะเริ่มต้นยังไง ไปดูบ้านต้องคุยอะไรกับเซลล์บ้าง ติดต่อแบงก์เพื่อยื่นกู้เองได้ไหม หรือจะเลือกธนาคารไหนดี คำถามพวกนี้ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ต้องบอกก่อนว่าที่ตัวเองมาเขียนรีวิวการซื้อบ้านหลังแรกได้นี่เพราะว่าเพิ่งซื้อมาจริง กู้ธนาคารมาจริง เลยอยากจะมารีวิววิธีและขั้นตอนการที่เราเลือกบ้านจากประสบการณ์จริง มาถ่ายทอดให้กับผู้ที่ต้องการจะมีบ้านเป็นของตัวเอง

ขั้นตอนการเลือก ซื้อบ้านหลังแรก เลือกอ่านหัวข้อที่ต้องการ

ขั้นตอนการเลือกบ้านจากข้อมูลในเว็บไซต์และ Social Media อื่น ๆ

เป็นขั้นตอนที่คุณอยู่หน้าคอมพิวเตอร์หรือบนมือถือก็ทำได้แล้ว ขอแค่คุณจำเป็นที่จะต้องเลือกหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในเบื้องต้นก่อนที่เราจะไปเลือกบ้านกัน เราต้องดูก่อนว่าการที่เราจะเลือกบ้านนั้นเราควรเก็บข้อมูลจากอะไรบ้าง

ทำเลและราคา

ซื้อบ้านครั้งแรก

เรื่องของทำเลก่อน เนื่องจากว่าแต่ละคนใช้ชีวิตที่ไม่เหมือนกัน ทำเลที่ได้ย่อมแตกต่างกัน ไม่มีทางเลยที่คนอื่น ๆ จะมาแนะนำทำเลให้เราได้ สิ่งที่คุณจะต้องทำคือลองคิดดูว่าคุณอยากอยู่ที่ไหนมากที่สุด อยากอยู่ในโลเคชันไหน เข้าซอยลึกไหม ระยะห่างจากที่ทำงานเป็นอย่างไร ถ้าคุณเป็นคนติดญาติอาจดูว่าใกล้กับบ้านของญาติที่เราไปหาบ่อย ๆ หรือไม่ ทั้งหมดนี้ทำให้ทำเลเป็นตัวเลือกที่แตกต่างกันออกไป

ส่วนตัวเองเป็นคนที่อาศัยอยู่แถวบางนามานานมาก ทำให้ผูกพันกับพื้นที่แถวนี้พอสมควร ซื้อบ้านหลังแรก เราเลยเลือกละแวกที่ยังอยู่ใกล้บางนาอยู่ เพราะฉะนั้นทำเลที่ทางผู้เขียนออกตามหาจึงเป็นทำเลแถวบางนา บางพลี และในสมุทรปราการเป็นหลักนั่นเอง

ส่วนเรื่องราคาของบ้านนั้น ให้ดูที่ราคาขายเบื้องต้นของ Social Media ในช่วงเวลาที่เราต้องการจะซื้อ เพราะถ้านานเกินไปจะเป็นราคาเก่า ซึ่งอสังหาริมทรัพย์มักจะมีราคาที่เพิ่มขึ้นทุกปี โดยปกติแล้วราคาบ้านเบื้องต้นมักจะเป็นราคาขายจริงในเวลานั้นด้วย ยกเว้นแต่ว่าเราเป็นบ้านหลังมุม หรือมีพื้นที่มากกว่า ทำให้ราคาดีดเพิ่มขึ้นไปอีก และถ้าเป็นบ้านที่ตกแต่งเสร็จแล้ว ขายพร้อมเฟอร์นิเจอร์ ก็มักจะมีราคาสูงไปอีก เพราะรวมค่าตกแต่งเข้าไปด้วย

ส่วนราคาที่เราผ่อนไหวนั้น ให้เราเข้าไปที่เว็บไซต์ของธนาคาร ที่คำนวณราคาผ่อนต่อเดือนได้ โดยใส่ดอกเบี้ยไป ราว 6-7% (ขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ยในขณะนั้น) จำนวนปีที่ต้องการกู้ซื้อ และใส่รายได้ต่อเดือนของเราลงไป ก็จะออกมาเป็นราคาที่เราต้องจ่ายต่อเดือน ทำให้เรารู้ศักยภาพของเราในเบื้องต้นว่าถ้าเรามีค่าใช้จ่ายในการผ่อนบ้านเท่านี้ทุกเดือน รายได้ที่เรามีอยู่จะเพียงพอหรือไม่ จะใช้ชีวิตลำบากหรือเปล่า (ซึ่งบอกก่อนว่าอัตราดอกเบี้ยพิเศษใน 3 ปีแรกจะค่อนข้างต่ำ ในช่วงปี 2564 นี้อยู่ที่ราว 2.4-3% เท่านั้นเอง ทำให้ราคาผ่อนจริงจะต่ำกว่าที่ใช้เว็บไซต์คำนวณ)

ทั้งหมดนี้จะทำให้เราประเมินตัวเองได้ว่ารายได้เราเหมาะสมหรือไม่ ถ้าบ้านมีราคาแพงเกินไป แนะนำให้หารู้แบบบ้านอื่นที่เล็งลงมาสักหน่อย หรืออาจจะหาทำเลที่ไกลขึ้น เพราะจะทำให้ราคาถูกลง

ส่วนตัวกู้ซื้อบ้านที่ราคา 3.99 ล้านบาท เป็นบ้านแฝดแถวสุวรรณภูมิ คิดว่าในราคานี้ค่อนข้างเหมาะกับรายได้ตัวเอง สามารถสู้ไหว เลยเลือกที่นี่ เพราะถ้าเป็นที่อื่นบ้านแฝดแบบที่ใกล้เคียงอย่างน้อย ๆ จะอยู่ที่ 4.3-5.5 ล้านบาทเลยทีเดียว ทำให้เราประเมินตัวเองว่าด้วยราคาขนาดนั้น อาจจะหนักเกินไป

รูปแบบโครงการ และรูปแบบบ้าน

บ้านหลังแรก

รูปแบบโครงการนั้นคือการแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ นั่นคือคอนโดมิเนียมหรือหมู่บ้านจัดสรร คนที่เลือกคอนโดมิเนียมอาจจะต้องการความสะดวกสบายในการเดินทาง เพราะการที่เราเลือกคอนโดมิเนียม นั่นหมายความว่าเราต้องการเอาตัวเองไปอยู่ใกล้สิ่งที่เราต้องการ เช่นใกล้ที่ทำงาน หรือใกล้สถานีรถไฟฟ้า ทำให้การเลือกคอนโดมิเนียมมีข้อได้เปรียบมากตรงการเดินทางจะสะดวกรวดเร็วกว่า แต่ก็ต้องยอมที่จะได้พื้นที่เล็กลงกว่าพวกหมู่บ้านจัดสรร

ส่วนหมู่บ้านจัดสรรนั้นมักจะอยู่ชานเมืองออกไป (ถ้าอยู่ใกล้เมืองมากขึ้นราคาก็จะสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว) ซึ่งตัวหมู่บ้านจัดสรรจะมีข้อได้เปรียบมากตรงขนาดของพื้นที่ ที่มักจะกว้างใหญ่กว่าคอนโดมิเนียม และถ้าเป็นบ้านเดี่ยว บ้านแฝด หรือทาวน์โฮมหลังมุม ก็มักจะมีที่ดินเพิ่มขึ้นมาไว้สำหรับจัดตกแต่งสวนได้ เหมาะมากกับคนที่ต้องการใช้พื้นที่ค่อนข้างเยอะ แต่ก็มีข้อเสียนั่นก็คือหมู่บ้านจัดสรรมักจะอยู่ชานเมืองเป็นหลัก ทำให้การเดินทางเข้าเมืองใช้เวลานาน ไม่ค่อยสะดวก อาจไม่ติดรถไฟฟ้า หรือต้องเดินทางหลายต่อ หรือถ้าใครมีรถยนต์ก็ต้องขับรถเพื่อออกมาจากหมู่บ้านนั่นเอง

ซึ่งในส่วนของหมู่บ้านจัดสรร มักจะมีรูปแบบของบ้านที่แตกต่างกันออกไป ราว 3 แบบ ด้วยกันนั่นคือ

ทาวน์โฮมหรือทาวน์เฮาส์

ทาวน์โฮม ทาวน์เฮ้าส์
ถ้าจะเลือกทาวน์โฮมแบบเป็นส่วนตัว แนะนำให้เลือกหลังมุม แต่มุกจะมีราคาสูงกว่าปกติ

เป็นรูปแบบบ้านที่คุ้นเคยกันมากที่สุดก็ว่าได้ ด้วยตัวกฎหมายเองทาวน์โฮมหรือทาวน์เฮาส์ต้องมีพื้นที่ดินที่ไม่ต่ำกว่า 16 ตารางวา และหน้ากว้างต้องไม่ต่ำกว่า 4 เมตร พื้นที่ที่เป็นที่ว่างส่วนมากจะเป็นด้านหน้าและด้านหลัง ซึ่งข้อดีของทาวน์โฮมหรือทาวน์เฮาส์นั้นคือมักจะมีราคาที่ไม่แพงมากนักเมื่อเทียบกับบ้านเดี่ยวและบ้านแฝด เพราะว่าบ้านเดี่ยวและบ้านแฝดมักจะมีพื้นที่ดินที่มากกว่าทาวน์โฮมอยู่แล้ว ทำให้ราคาสูงขึ้นมาก แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความเป็นส่วนตัว ที่ทาวน์โฮมจะมีผนังติดกับเพื่อบ้านทั้งสองด้าน (ยกเว้นแปลงหลังมุม)

บ้านแฝด

บ้านแฝด
บ้านแฝดจะพิเศษตรงที่มีส่วนใดส่วนหนึ่งใช้งานร่วมกัน ซึ่งหลาย ๆ ที่ใช้คานแบบใต้ดิน ดูด้วยตาเปล่าไม่ออกว่าเป็นบ้านแฝด

บ้านแฝดมีความพิเศษตรงที่จะมีส่วนใดส่วนหนึ่งของบ้านใช้งานร่วมกัน เช่นผนัง ส่วนที่เป็นครัว ฯลฯ ซึ่งที่ดินของบ้านแฝดจะมีที่ดินขั้นต่ำอยู่ที่ 35 ตารางวา และหน้ากว้างไม่ต่ำกว่า 8 เมตร ซึ่งบ้านแฝดจะมีความยืดหยุ่นและมีความเป็นส่วนตัวมากกว่าทาวน์โฮม เพราะผนังบ้านจะติดเพื่อนบ้านแค่ด้านเดียวเท่านั้น และจะมีพื้นดินเหลือไว้ 3 ด้าน คือด้านหน้า ด้านข้างและด้านหลัง

แต่ในยุคปัจจุบันบ้านแฝดไม่เหมือนเมื่อก่อน มักจะมีการออกแบบที่ทำให้บางส่วนของบ้านติดกันแต่ไม่ใช่ผนังอีกต่อไป เช่นคานบนดิน หรือคานใต้ดิน และดีไซน์ 2 หลังแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทำให้มองด้วยตาเปล่าก็แทบจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเป็นบ้านแฝดด้วยซ้ำ

ทำให้บ้านแฝดเหมาะกับผู้ที่มีงบสูงขึ้นมาอีกนิดนึง และต้องการความเป็นส่วนตัวที่มากขึ้น ได้ที่ดินมากขึ้น แต่อาจไม่ต้องการขนาดบ้านและที่ดินที่ใหญ่เท่าบ้านเดี่ยว ซึ่งผู้เขียนเองได้เลือกบ้านแฝด เพราะเหตุผลข้อนี้เลย ทำให้มีพื้นที่มากขึ้น เป็นส่วนตัวกว่าทาวน์โฮม และราคายังจับต้องได้ ไม่แพงถึงขนาดบ้านเดี่ยวนั่นเอง

บ้านเดี่ยว

บ้านเดี่ยว
บ้านเดี่ยวเรียกได้ว่าตัวบ้านไม่ติดกับใครเลย มีพื้นที่ดินล้อมรอบทั้งหมด แต่ราคาก็จะแพงกว่าบ้านแฝดและทาวน์โฮมมาก

สุดท้ายเลยคือบ้านเดี่ยว เป็นบ้านในฝันของหลาย ๆ คน ตัวบ้านไม่ติดกับใคร เพราะฉะนั้นจะได้ความเป็นส่วนตัวในระดับที่สูงที่สุด โดยบ้านเดี่ยวจะมีที่ดินที่ไม่ต่ำกว่า 50 ตารางวา และมีหน้ากว้างไม่ต่ำกว่า 10 เมตร ทำให้บ้านเดี่ยวมีที่ดินมากที่สุด เมื่อเทียบกับขั้นต่ำกับทั้งบ้านแฝดและทาวน์โฮม

ถึงแม้ว่าบ้านเดี่ยวจะได้ที่ดินมากที่สุดและเป็นส่วนตัวสูง แต่ก็ต้องแลกมาด้วยกับราคาที่แพงกว่ามาก ในหลาย ๆ โครงการคุณอาจจะเห็นราคาบ้านเดี่ยว 1 หลัง แทบจะซื้อทาวน์โฮมได้ 3 หลังเลยก็มี ทำให้บ้านเดี่ยวนั้นมีราคาสูงมากที่สุดเมื่อเทียบกับทาวน์โฮมและบ้านแฝด

ฟังก์ชันและเลย์เอาท์

รีวิว ซื้อบ้านหลังแรก

ฟังก์ชันของบ้านมักจะมาพร้อมกับการแบ่งสัดส่วนห้องต่าง ๆ ก่อนที่เราจะเลือกแบบบ้าน เราต้องสำรวจตัวเองก่อนว่า ที่เราซื้อบ้านนี้ จะมีคนอยู่ทั้งหมดกี่คน เช่นถ้าเป็นครอบครัว และมีลูก 1 คน ห้องนอนจำนวน 2 ห้องก็เรียกได้ว่าเพียงพอ แต่ถ้ามีผู้สูงอายุอยู่ด้วย อาจต้องคิดแล้วว่าห้องนอนควรอยู่ชั้นล่างด้วยหรือไม่ ตอนเช้าออกไปทำงานพร้อมกัน ห้องน้ำกี่ห้องถึงจะเพียงพอต่อความต้องการ ทำอาหารบ่อยหรือไม่ ถ้าเน้นการทำอาหารเอง และเป็นมื้อใหญ่ สัดส่วนของห้องครัวอาจจะต้องใหญ่กว่าธรรมดา

ใครที่มองว่าอยากได้สวน แน่นอนว่าก็ต้องมีพื้นที่ข้างบ้าน จะช่วยตอบโจทย์ได้มาก แนะนำเลยว่าส่วนฟังก์ชันควรถามตัวเองให้แน่ใจจริง ๆ ถ้าเป็นกรณีเรามีห้องเหลือมากกว่าจำนวนคนหรือความต้องการที่ใช้ จะกลายเป็นว่า เราอาจจะต้องจ่ายเงินกับสิ่งที่ไม่จำเป็นได้ ห้องไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์ หรือถ้าจำนวนคนเกินกว่าจำนวนห้องในบ้าน จะทำให้เรารู้สึกอึดอัดใจ ไม่อยากอยู่บ้าน และเกิดความลำบากเมื่อใช้ชีวิตที่บ้านได้

ส่วนเลย์เอาท์นั้นเป็นสิ่งที่ทางโครงการกำหนดมาให้ในเบื้องต้นแล้ว ว่าขนาดห้องแต่ละห้องเป็นอย่างไร บันไดอยู่ตรงไหน ถ้าส่วนที่เป็นบ้านแฝดตรงไหนติดบ้านข้าง ๆ บ้าง ซึ่งตรงส่วนเลย์เอาท์นั้นในภาพรวมถึงแม้จะเปลี่ยนแปลงไม่ได้มากนักเช่นขนาดห้อง แต่เราสามารถตกแต่งเพิ่มเติมได้ ยกเว้นเป็นส่วนที่เราไม่ชอบจริง ๆ ก็อาจดูแบบบ้านอื่นที่เหมาะสมกว่า

สิ่งอำนวยความสะดวกในหมู่บ้าน

ส่วนกลาง

ส่วนกลางในหมู่บ้านเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะสิ่งพื้นฐานที่จะต้องมี ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง ระบบระบายน้ำ ไฟฟ้าในโครงการ ระบบรักษาความปลอดภัย พวกนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นและต้องมี

แต่มีอีกหนึ่งอย่างที่เป็นควรจะมี หรือจะไม่มีก็ได้ เช่นสวนสาธารณะ ฟิตเนส สระว่ายน้ำ พื้นที่สีเขียว ทั้งหมดนี้ถ้ามีก็จะช่วยให้หมู่บ้านของเราน่าอยู่มากยิ่งขึ้น แต่ว่ายิ่งมีส่วนกลางขนาดใหญ่เท่าไร มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากขนาดไหน ค่าส่วนกลางก็จะมีราคาแพงขึ้นเป็นเงาตามตัวเท่านั้น เท่าที่เคยไปดูหมู่บ้านทั่วไป ราคาค่าส่วนกลางจะอยู่ที่ 45 บาท/ตารางวา แต่หมู่บ้านที่ซื้ออยู่นั้น ไม่ได้มีส่วนกลางที่หรูหราอะไร เน้นเป็นพื้นที่สีเขียวและสวนสาธารณะมากกว่า รวมไปถึงส่วนกลางพื้นฐาน ทำให้ค่าส่วนกลางตกอยู่ที่ 25 บาท/ตารางวา เท่านั้น

ซื้อบ้านหลังแรก

ซึ่งค่าส่วนกลางนี้จำนวนยูนิตในหมู่บ้านก็มีผล เพราะถ้ายูนิตมีจำนวนน้อย แต่พื้นที่ส่วนกลางและสิ่งอำนวยความสะดวกหรูหราครบครัน ราคาค่าส่วนกลางก็จะแพงขึ้นไปอีก แต่ถ้ายูนิตจำนวนเยอะ จะทำให้มีราคาค่าส่วนกลางถูกลง เพราะมีคนช่วยจ่ายมากขึ้น แต่ก็ต้องแลกมาด้วยว่าลูกบ้านจะเยอะมากเช่นกัน

สิ่งอำนวยความสะดวก

ขั้นตอนการเลือกบ้านจากการไปเยี่ยมชมสถานที่จริง

ขั้นตอนการ ซื้อบ้านหลังแรก เราเพิ่งมาถึงแค่ครึ่งทางเท่านั้นเอง เพราะนั่นคือการหาข้อมูลต่าง ๆ ตามเว็บไซต์หรือ Social Media ของแบรนด์ ต่อมาเมื่อเราเลือกโครงการที่เราโดนใจบางส่วนได้แล้ว ต่อมาคือโครงการและแบบบ้านที่คิดว่าเราจะต้องไปดูจริง โดยพยายามลิสต์สถานที่จะไป ถ้ามีจำนวนมาก แนะนำให้จัดเป็นกลุ่มที่อยู่ใกล้ ๆ กัน แล้วไปดูบ้านทั้งหมดภายในวันเดียว เพราะโดยปกติการดูบ้านนั้นมักจะใช้เวลาประมาณ 1-1.30 ชั่วโมง เท่านั้นโดยไม่นับรวมเวลาเดินทาง ทำให้ถ้าเราจัดกลุ่มใกล้กันแล้ว และไปดูบ้านโครงการใกล้เคียงในวันเดียวกัน ก็จะทำให้ประหยัดเวลาเป็นอย่างมาก

โดยเราจะลงทะเบียนเพื่อนัดหมายไปดูก่อนหรือไม่ก็ได้ (ส่วนตัวไม่เคยนัดหมายเลย นึกไปก็ไปเลย) ตรงไปที่ Sale Gallery ของแต่ละโครงการ เซลล์ก็จะมาต้อนรับเราพร้อมทั้งสอบถามข้อมูลเบื้องต้น ทั้งรายได้ของเรา แบบบ้านที่เราต้องการ ซึ่งเซลล์จะมีการเประเมินรายได้ของเราและแนะนำบ้านที่เราจะกู้ผ่านให้ ซึ่งเราก็สามารถเลือกไปดูบ้านที่เราต้องการได้ ถ้ามีบ้านหลายแบบ ไปดูหลาย ๆ หลังก็ทำได้เช่นกัน

ไปเยี่ยมชมโครงการ และแบบบ้านที่ต้องการ เพื่อ ซื้อบ้านหลังแรก

ก่อนที่จะถึงโครงการเมื่อขับรถไป ให้สังเกตดูรอบ ๆ ด้วยว่า สภาพแวดล้อมก่อนที่จะถึงโครงการเป็นอย่างไร ถนนดีไหม กว้างหรือไม่ สภาพการจราจร ห้างสรรพสินค้าที่อยู่ใกล้ที่สุด โรงเรียน โรงพยาบาล ตลาด เข้าซอยไปลึกไหม ถนนในโครงการ ทั้งหมดนี้ให้เราขับรถไปและดูไปด้วย จะช่วยให้เราประเมินสภาพพื้นที่โดยรอบได้อย่างถูกต้อง

อยากรู้อะไรถามเซลล์ให้หมด ไม่ต้องกังวล

ซื้อบ้านหลังแรก

ปกติแล้วเซลล์มักจะพาเราไปดูบ้านตัวอย่างก่อน ในบ้านตัวอย่างจะมีการตกแต่งอย่างสวยงาม ทำให้ภายในบ้านดูเล็กกว่าความเป็นจริงด้วย เพราะพื้นที่จะแคบลงจากการตกแต่งเฟอร์นิเจอร์ และการใช้บิลต์อิน จากนั้นเซลล์ก็จะพาเราไปยังบ้านที่เปิดขายจริง โดยบ้านที่เปิดขายจริงมักจะไม่ได้เปิดขายทั้งโครงการพร้อมกัน มักจะแบ่งขายทีละน้อย และมักจะขายในโซนที่ขายได้ยากก่อน ส่วนพวกแปลงสวย ๆ มักจะขายทีหลังสุด

ซึ่งเราสามารถคุยกับเซลล์ได้เลยในสิ่งที่เราอยากรู้ในเบื้องต้นทั้งหมด เรื่องราคา พื้นที่ สิ่งอำนวยความสะดวก รูปแบบบ้าน พื้นที่ที่เปิดขาย จำนวนยูนิต วัสดุ ฯลฯ แนะนำให้ลิสต์คำถามที่เราจะต้องการไว้ก่อน แล้วค่อยทยอยสอบถามเซลล์ พร้อมทั้งอาจจดในมือถือไปไว้ด้วยก็ได้

อย่าเพิ่งจองบ้านทันทีในการดูบ้านครั้งแรก ไว้รอการตัดสินใจก่อน

สิ่งที่คุณจะต้องจำไว้เสมอเลยคือ การไปดูบ้านครั้งแรก อย่าเพิ่งรีบเซ็นเอกสารจองใด ๆ เพราะว่า อะไรก็ดูไปหมดเมื่อตอนไปดูบ้านในครั้งแรก แนะนำเลยว่าให้ดูที่อื่นเปรียบเทียบก่อน บ้านมาดูกันกี่รอบก็ได้จนกว่าจะพอใจ เมื่อตัดสินใจได้แล้วจริง ถึงค่อยจอง มิฉะนั้นจะลำบาก เมื่อเราจะต้องทิ้งจอง เพราะจะต้องเสียเงินบางส่วนออกไปด้วย

วิธีเปรียบเทียบ ซื้อบ้านหลังแรก แบบให้เห็นภาพ ใช้ Google Sheets ให้เป็นประโยชน์

เปรียบเทียบบ้าน
วิธีเปรียบเทียบบ้านที่เราไปดูมา ว่าเป็นอย่างไร โดยใช้ Google Sheets เพื่อให้เห็นภาพรวมทั้งหมด

การที่จะเปรียบเทียบให้เห็นเป็นข้อมูลต่าง ๆ ควรจะทำเป็นตารางในชีทแผ่นเดียวกัน เพื่อให้เราเปรียบเทียบได้ง่ายขึ้น สิ่งที่ควรจะต้องใส่เช่น

  • ชื่อโครงการ
  • แบบบ้าน เช่น ทาวน์โฮม บ้านแฝด บ้านเดี่ยว
  • ขนาดพื้นที่ใช้สอย หน่วยเป็นตารางเมตร
  • ขนาดที่ดิน หน่วยเป็นตารางวา
  • ราคาที่โครงการขาย
  • ราคาต่อตารางเมตร (พื้นที่ใช้สอย)
  • ราคาต่อตารางวา (ขนาดที่ดิน)
  • ตำแหน่งที่ตั้ง (ใส่ลิงก์ Google Maps ก็ได้)
  • ราคาส่วนกลางต่อตารางวา (หรือจะใส่เป็นราคาส่วนกลางที่ต้องจ่ายรายปีเลยก็ได้)
  • ระยะเวลาเดินทางจากบ้านถึงที่ทำงาน (ลองใช้ Google Maps ค้น Direction ได้ แนะนำเป็นช่วงเวลาเร่งด่วน เพราะจะเป็นเวลาจริงที่เราออกเดินทาง)
  • ระยะห่างทางที่ทำงานถึงบ้าน หน่วยเป็นกิโลเมตร
  • ที่เหลืออาจเป็นใส่จำนวนห้อง แต่ละประเภทก็ได้ เช่น ห้องน้ำ ห้องนอน ห้องครัว ที่จอดรถ
  • เงื่อนไขอื่น ๆ เช่น ฟรีโอน ฟรีค่าส่วนกลางกี่ปี ส่วนลด และโปรโมชั่นของแถมอื่น ๆ
  • สภาพแวดล้อมโดยรอบที่เราชอบและไม่ชอบ เช่นถนนคับแคบหรือกว้าง ใกล้กับตลาดหรือห้างสรรพสินค้าแค่ไหน ฯลฯ

ทั้งหมดนี้เมื่อเรากรอกใส่ Google Sheets เราก็จะเห็นภาพรวมทั้งหมดกับโครงการที่เราเปรียบเทียบไป อันไหนที่เป็นจุดเด่น เราก็สามารถเพิ่มสีเพื่อไฮไลท์แต่ละช่องเอาได้ จากนั้นเราก็ค่อยมานับรวมข้อดีข้อเสีย แล้วค่อยเลือกจากบ้านที่เราชอบ แล้วค่อยไปดูที่โครงการจริงอีกสักรอบก็ยังได้ แล้วเมื่อเราเลือกได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการตัดสินใจจอง

วิธีจอง สัญญาจะซื้อจะขาย และการยื่นธนาคาร สำหรับกู้ ซื้อบ้านหลังแรก

อันนี้จะเป็นการแชร์ประสบการณ์ส่วนตัวจากการ ซื้อบ้านหลังแรก ด้วยตัวเอง บางโครงการอาจจะไม่เป็นไปตามนี้ทั้งหมด ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละโครงการและแต่ละสัญญาด้วย

เมื่อเราตัดสินใจจองก็ไม่ยาก ให้แจ้งเซลล์ของโครงการนั้น เมื่อเซลล์ก็จะนำเอาสัญญาจองมาให้เรา ในสัญญาจอง ก็จะมีค่าจอง ซึ่งค่าจองนั้นราคาไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับโครงการ โดยโครงการที่ไปจองมานั้นค่าจองอยู่ที่ 30,000 บาท โดยเราสามารถต่อรองกับเซลล์ได้ ในสัญญาจองก็จะระบุบ้านเลขที่ ขนาดพื้นที่ใช้สอย ขนาดที่ดิน ที่เราต้องการจะจอง วันที่จะต้องทำสัญญาจะซื้อจะขาย ส่วนมากมักจะเป็น 7 วันหลังจากจอง มิฉะนั้นจะถือว่าเป็นการทิ้งจอง และเงื่อนไขในการคืนเงินจองต่าง ๆ และของแถมส่วนลดต่าง ๆ ก็จะระบุในสัญญาจอง แนะนำว่าให้อ่านอย่างละเอียด อะไรตกหล่นไป ต้องรีบทักท้วง ซึ่งในขั้นตอนก่อนที่เซ็นสัญญาจอง เราสามารถต่อรองได้อย่างเต็มที่ มีของแถมอะไร ส่วนลดเท่าไร มีระบุในสัญญาจองด้วย ส่วนตัวได้ส่วนลดมา 100,000 บาท ได้แอร์มา 2 เครื่อง ฟรีค่าโอน ฟรีค่าทำสัญญา ฟรีค่าส่วนกลางล่วงหน้า 2 ปี ฟรีปั๊มน้ำ แท็งค์น้ำ ฯลฯ (จริง ๆ ได้มาเยอะกว่านี้พอสมควร แต่ขออุบไว้บ้าง)

หลังจากนั้นไม่เกินภายใน 7 วัน ก็จะเป็นขั้นตอนการทำสัญญาจะซื้อจะขาย (เอกสารนี้มีผลทางกฎหมาย เพื่อนำไปยื่นให้กับธนาคารสำหรับการกู้) สัญญาจะซื้อจะขายมีความหนาพอสมควร และแนะนำเป็นอย่างมากที่จะต้องอ่านรายละเอียดทุกหน้า มีรายละเอียดตั้งแต่แปลงที่ดิน ขนาดที่ดิน แบบบ้าน น้ำไฟอยู่ตรงไหน วัสดุเป็นอย่างไร กฎการอยู่อาศัยในหมู่บ้าน ฯลฯ โดยต้องมีการเซ็นกำกับชื่อทุกหน้า โดยสัญญาจะเหมือนกัน 2 ฉบับ โครงการเก็บไว้ 1 ฉบับ และเราเก็บไว้ 1 ฉบับ

ต่อมาเป็นขั้นตอนการกู้กับธนาคาร ซึ่งโดยปกติแล้วถ้าเรายื่นกู้กับธนาคารที่ร่วมกับทางโครงการ เซลล์จะจัดเตรียมเอกสารให้ทั้งหมด โดยเรายื่นเอกสารผ่านเซลล์ก็ได้ เราสามารถแจ้งเซลล์ได้โดยตรงเลยว่าที่โครงการทำสัญญาไว้กับธนาคารอะไรบ้าง ต้องการยื่นกู้เต็ม 100% หรือจะกู้สินเชื่อเอนกประสงค์เพิ่มเติมไปด้วยหรือไม่ เพราะเซลล์จะได้แนะนำให้ถูกต้อง โดยเอกสารที่เราจะต้องเตรียมสำหรับการยื่นให้กับธนาคารมีดังนี้ (สำหรับมนุษย์เงินเดือนหรือผู้ที่มีรายได้ประจำ)

  • สำเนาบัตรประชาชน
  • สำเนาทะเบียนบ้าน
  • สลิปเงินเดือนย้อนหลัง 6 เดือน
  • Statement บัญชีเงินเดือนย้อนหลัง 6 เดือน
  • หน้าสมุดบัญชีเงินเดือน
  • ใบรับรองเงินเดือน
  • ทวิ 50 หรือ ภงด. 90, 91 ย้อนหลัง 2 ปี (ถ้ามี)

ทั้งหมดนี้เรียกได้ว่าเป็นเอกสารพื้นฐาน แต่เมื่อเรายื่นไปจริง ๆ ก็จะมีบางธนาคารตรวจสอบขอเอกสารเพิ่ม เท่าที่เคยเจอก็จะมีขอบัญชีเงินออมหรือบัญชีกองทุน ใบแจ้งหนี้บัตรเครดิตย้อนหลัง 3 เดือน อันนี้คือเท่าที่โดนขอมา ส่วนตัวนั้นเป็นการยื่นกู้คนเดียว และเป็นพนักงานประจำ ทำให้การยื่นเอกสารไม่ใช่เรื่องยุ่งยากมากนัก แต่ถ้ายื่นกู้หลายคน ก็จำเป็นที่จะต้องใช้เอกสารของผู้ที่ยื่นกู้ทุกคน

และหลังจากยื่นกู้ ซื้อบ้านหลังแรก ไปเรียบร้อย ก็รอการติดต่อกลับจากเจ้าหน้าที่สินเชื่อทางธนาคารที่เราไปกู้ไว้ ควรเปิดการแอดไลน์จากเบอร์โทรไว้ เพราะบางทีเจ้าหน้าที่มักจะแอดไลน์มาเพื่อขอเอกสารเพิ่มจากช่องทางนี้ แนะนำเป็นอย่างยิ่งให้ยื่นกู้สินเชื่อบ้านหลายธนาคาร อย่างน้อย 3-5 ธนาคาร เพราะว่าแต่ละธนาคารนั้นต่างมีเกณฑ์ไม่เหมือนกัน แตกต่างกันในรายละเอียด ส่วนตัวได้ยื่นกู้ไปที่ 5 ธนาคาร ซึ่งผ่านเกณฑ์ทั้งหมด 4 ธนาคาร และไม่ผ่าน 1 ธนาคาร โดยมีธนาคารที่ตัดสินใจยากมากจำนวน 2 ธนาคารด้วยกันคือ ธนาคาร UOB (ยูโอบี) และ KKP (เกียรตินาคินภัทร) เพราะให้ข้อเสนอที่ดีมาก ๆ เลยเอามาเปรียบเทียบกัน (ข้อเสนอทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2564 และเป็นข้อเสนอเฉพาะบุคคลเท่านั้น บางคนอาจได้ข้อเสนอที่แตกต่างกันออกไปตามช่วงเวลา เครดิตของผู้ซื้อ ราคาบ้าน และนโยบายธนาคารในช่วงนั้น) ซึ่งถ้าต้องการจะสมัครสินเชื่อบ้านสามารถคลิกที่ปุ่มด้านล่างได้เลย

ข้อเสนอสินเชื่อบ้าน UOB ยูโอบี

สินเชื่อบ้าน UOB ยูโอบี
  • ให้วงเงินกู้ที่ 100% ของราคาบ้าน ซึ่งราคาประเมินก็เป็นไปตามราคาในสัญญาจะซื้อจะขาย (3.99 ล้านบาท)
  • ระยะเวลากู้ที่ 30 ปี
  • อัตราดอกเบี้ยเมื่อทำประกัน 2.45% ใน 2 ปีแรกเป็นแบบ Fixed ปีที่ 3 เป็น MRR-4.9% และปีที่ 4 เป็นต้นไปอยู่ที่ MRR-1.6%
  • สรุปดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรกเมื่อทำประกัน 2.45%
  • จำนวนเงินขั้นต่ำที่ต้องผ่อนต่อเดือน เมื่อทำประกัน ในปีที่ 1-2 อยู่ที่ 15,662+506 = 16,168
  • จำนวนเงินขั้นต่ำที่ต้องผ่อนต่อเดือน เมื่อทำประกัน ในปีที่ 3 อยู่ที่ 17,256+558= 17,814
  • จำนวนเงินขั้นต่ำที่ต้องผ่อนต่อเดือน เมื่อทำประกัน ในปีที่ 4 เป็นต้นไปอยู่ที่ 23,284 บวกค่าเบี้ยประกัน

  • อัตราดอกเบี้ยเมื่อไม่ทำประกัน 2.65% ใน 2 ปีแรกเป็นแบบ Fixed ปีที่ 3 เป็น MRR-4.7% และปีที่ 4 เป็นต้นไปอยู่ที่ MRR-1.6%
  • สรุปดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรกเมื่อไม่ทำประกัน 2.65%
  • จำนวนเงินขั้นต่ำที่ต้องผ่อนต่อเดือน เมื่อไม่ทำประกัน ในปีที่ 1-2 อยู่ที่ 16,079
  • จำนวนเงินขั้นต่ำที่ต้องผ่อนต่อเดือน เมื่อไม่ทำประกัน ในปีที่ 3 อยู่ที่ 17,695
  • จำนวนเงินขั้นต่ำที่ต้องผ่อนต่อเดือน เมื่อไม่ทำประกัน ในปีที่ 4 เป็นต้นไปอยู่ที่ 23,284

ข้อเสนอสินเชื่อบ้านจาก KKP เกียรตินาคินภัทร

สินเชื่อบ้าน KKP เกียรตินาคินภัทร
  • วงเงินที่ได้คือ 105% ของราคาบ้าน ราคาประเมินก็เป็นไปตามสัญญาการซื้อขาย ก็อยู่ที่ 3.99 ล้านบาท รวมเป็น 4,189,500 บาท
  • ระยะเวลาในการกู้คือ 30 ปีสำหรับสินเชื่อบ้าน และสินเชื่ออเนกประสงค์
  • อัตราดอกเบี้ยเมื่อทำประกัน สำหรับวงเงินสินเชื่อบ้าน 100% ปีแรกเป็นแบบ Fixed 2.45% ปีที่ 2-3 เป็นแบบลอยตัว MLR-4.075% ปีที่ 4 เป็นต้นไป MLR-1.75%
  • อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรก เมื่อทำประกันอยู่ที่ 2.45% สำหรับวงเงินสินเชื่อบ้าน 100%
  • ส่วนที่เป็นสินเชื่ออเนกประสงค์ 5% เมื่อทำประกันจะเป็นแบบลอยตัว 3 ปีแรก MLR-3.775% และปีที่ 4 เป็นต้นไปอยู่ที่ MLR-1.75%
  • สรุปอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรก เมื่อทำประกันสำหรับวงเงินสินเชื่ออเนกประสงค์อยู่ที่ 2.75%
  • จำนวนเงินขั้นต่ำที่ต้องผ่อนต่อเดือน เมื่อทำประกัน สำหรับ 3 ปีแรกอยู่ที่ 15,600+800=16,400 บาท (สินเชื่อบ้านรวมประกันแล้ว+สินเชื่ออเนกประสงค์) ปีที่ 4 เป็นต้นไปอยู่ที่ 24,100+1,300= 25,400 บาท
  • อัตราดอกเบี้ยเมื่อไม่ทำประกัน สำหรับวงเงินสินเชื่อบ้าน 100% ปีแรกเป็นแบบ Fixed 2.60% ปีที่ 2-3 เป็นแบบลอยตัว MLR-3.925% ปีที่ 4 เป็นต้นไป MLR-1.75%
  • อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรก เมื่อไม่ทำประกันอยู่ที่ 2.60% สำหรับวงเงินสินเชื่อบ้าน 100%
  • ส่วนที่เป็นสินเชื่ออเนกประสงค์ 5% เมื่อไม่ทำประกันจะเป็นแบบลอยตัว 3 ปีแรก MLR-3.575% และปีที่ 4 เป็นต้นไปอยู่ที่ MLR-1.75%
  • สรุปอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรก เมื่อไม่ทำประกันสำหรับวงเงินสินเชื่ออเนกประสงค์อยู่ที่ 2.95%
  • จำนวนเงินขั้นต่ำที่ต้องผ่อนต่อเดือน เมื่อไม่ทำประกัน สำหรับ 3 ปีแรกอยู่ที่ 15,600+900= 16,500 บาท (สินเชื่อบ้าน+สินเชื่ออเนกประสงค์) ) ปีที่ 4 เป็นต้นไปอยู่ที่ 23,200+1,300= 24,500 บาท

เลือกธนาคารที่ต้องการ แล้วทางธนาคารและโครงการจัดนัดวันโอนอีกครั้ง

เมื่อเราเปรียบเทียบข้อเสนอของธนาคารทั้งหมดแล้ว เราก็เลือกธนาคารที่เหมาะกับเรามากที่สุด เงื่อนไขที่ดีที่สุดที่เรารับได้ ซึ่งขอแอบบอกไว้หน่อยว่าฝ่ายสินเชื่อของแต่ละธนาคารก็มักจะสอบถามเราตรง ๆ ว่าเรายื่นไปกี่ธนาคาร ผ่านธนาคารไหนบ้าง ธนาคารไหนได้ดอกเบี้ยเท่าไร และแต่ละธนาคารก็จะมาบลัฟกัน เพื่อยื่นข้อเสนอที่ดีที่สุดให้เรา โดยเราอาจพิจารณาเงื่อนไขอื่นเข้าไปด้วย เช่นการโปะสามารถทำได้เลยตั้งแต่งวดแรกหรือไม่ โปะผ่านแอพได้เลยไหม การดูยอดเงินสินเชื่อพร้อมดอกเบี้ยดูผ่านแอพได้มั้ย สามารถรีไฟแนนซ์หรือรีเทนชั่นได้ภายในกี่ปี ฟรีจดจำนองหรือไม่ อันนี้ขึ้นอยู่กันขั้นตอนของการเจรจา และการต่อรอง รวมไปถึงเงื่อนไขของธนาคารเป็นหลัก ซึ่งส่วนตัวเลือกของ KKP ธนาคารเกียรตินาคินภัทร เนื่องจากว่าให้ยอดเงินสินเชื่ออเนกประสงค์มาด้วย และดอกเบี้ยไม่แพงเลย เมื่อเทียบกับสินเชื่อส่วนบุคคล (ปกติสินเชื่อส่วนบุคคลจะอยู่ที่ 9% ขึ้นไปแบบลดต้นลดดอก)

เมื่อเราเปรียบเทียบ ข้อเสนอสินเชื่อบ้านทั้งหมดแล้ว ถึงเวลาที่เราเลือกธนาคารที่เราต้องการทำสินเชื่อให้เรียบร้อย จะแจ้งผ่านเจ้าหน้าที่สินเชื่อที่ติดต่อเราโดยตรงก็ได้ หรือจะแจ้งเซลล์โครงการบ้านก็ได้ แต่แนะนำว่าให้แจ้งทั้งคู่ ต่อมาคือการประเมินบ้าน ซึ่งก็จะมีราคาประเมินว่าบ้านที่เราจะซื้อมีราคาอยู่ที่เท่าไร แนะนำว่าให้ถามเจ้าหน้าที่สินเชื่อได้เลย เพราะบ้านจัดสรรมักจะมีราคาประเมินมาก่อนหน้าอยู่แล้ว ทำให้ทราบได้ว่าราคาประเมินจะออกมาตามราคาซื้อขายหรือไม่ (เท่าที่เคยอ่านเจอมามีบางที่ได้ราคาประเมินต้ำกว่าจะซื้อจะขายก็มี) แต่ส่วนตัวได้ราคาตามสัญญาจะซื้อจะขายเลย จากนั้นธนาคารก็จะนัดทำสัญญากับธนาคารก่อน ซึ่งสำหรับเราเลือกที่ KKP ก็สามารถทำสัญญาที่ไหนก็ได้ จะมาที่ทำงาน หรือที่บ้าน หรือที่โครงการที่เราไปซื้อก็ได้ เมื่อทำสัญญาแล้ว ก็จะมีการนัดวันโอนบ้านอีกครั้งหนึ่ง เสร็จแล้วทางธนาคารและทางโครงการ ก็จะนัดวันโอนบ้านอีกครั้งหนึ่ง

ค่าใช้จ่ายเมื่อทำสินเชื่อกับธนาคาร

  • ค่าประกันอัคคีภัย (จำเป็นต้องทำ) ขึ้นอยู่กับมูลค่าของบ้าน ส่วนตัวชำระประมาณ 7,000 บาท สำหรับ 3 ปี
  • ค่าประเมินบ้าน 3,210 บาท (ช่วงนี้เป็นโปรโมชั่นของ KKP ทำให้ไม่ต้องจ่ายค่าประเมิน)

โดยค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นเมื่อเราไปที่กรมที่ดินเพื่อการโอนบ้าน

  • ค่าจดจำนอง 1% ของวงเงินสินเชื่อ
  • ค่าโอน 2% (ปกติโครงการและผู้ซื้อจะออกกันคนละครึ่ง) ซึ่งส่วนนี้ได้โปรโมชันจากโครงการฟรีโอน
  • ค่าอากรแสตมป์ 0.05% ของวงเงินสินเชื่อ

ขั้นตอนการตรวจรับบ้านจาก Check Houses เมื่อ ซื้อบ้านหลังแรก

ตรวจรับบ้าน
ใช้บริการตรวจรับบ้านจาก Check Houses ถ้าได้ซูมเข้าไปคุณจะเห็นสติ๊กเกอร์เพื่อเช็ก Defect เต็มไปหมด เพราะเค้าละเอียดจริง ๆ

ในขั้นตอนนี้จะอยู่หลังช่วงการทำสัญญาจะซื้อจะขาย และอยู่ในระหว่างการยื่นธนาคาร ถ้าใครมั่นใจในเครดิตว่ายื่นกู้ซื้อผ่านแน่นอน แค่รอเลือกดอกเบี้ยก็แนะนำเลยว่าให้เตรียมจ้างหาบริษัทเพื่อการตรวจรับบ้านได้เลย เพื่อความรวดเร็ว เพราะขั้นตอนต่อจากนี้โครงการจะมาแก้ไขและตรวจรับรอบที่สอง ต้องใช้เวลาพอสมควร ก็จะเสร็จก่อนวันโอนเล็กน้อย ซึ่งถ้าการตรวจรอบที่ 2 ผ่านไปได้ด้วยดี ก็จะทันวันโอนบ้านพอดี

โดยส่วนตัวที่ได้เลือกบริษัทรับตรวจบ้านมา อันนี้บอกเลยว่าแนะนำบริษัท Check Houses เพราะว่าประทับใจมาก ๆ ทำงานมืออาชีพสุด มีเครื่องไม้เครื่องมือครบ มีทีมงาน 3-4 คน และให้คำแนะนำต่าง ๆ เกี่ยวกับบ้านได้ดีมาก ๆ พร้อมทั้งมี Report ให้เสร็จว่าต้องแก้ไขตรงไหนบ้าง โดยรีพอร์ตนี้จะส่งให้หลังจากตรวจบ้านภายใน 3 วัน โดยเราจะนำรีพอร์ตนี้ไปให้ช่างหรือทีมวิศวกรของโครงการอีกทีเพื่อแก้ไข แล้ว Check Houses ตรวจอะไรบ้าง

  • รอยแตกรอยร้าวรอบบ้าน รวมไปถึงสีด่างต่าง ๆ
  • วงกบประตูหน้าต่าง เปิดปิดสนิทดีหรือไม่
  • จำลองการฝนตก ฉีดน้ำรอบ ๆ ทำให้รู้ว่าเกิดการรั่วซึมที่ไหนของประตูหรือหน้าต่างบ้าง
  • ในห้องน้ำตรวจรอยรั่วซึมทั้งหมด
  • บันไดตรวจลักษณะความแข็งแรงและเป็นแนวขนานกันหรือไม่อย่างไร
  • ระบบไฟฟ้า และเบรกเกอร์ ติดตั้งอย่างถูกต้องไหม ไฟเดินเข้าหรือเปล่า
  • ระบบน้ำ และท่อน้ำทิ้ง ท่อน้ำทิ้งโอเคไหม มีอุดตันอะไรหรือไม่
  • ใช้โดรนตรวจบนหลังคา ว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่

จริง ๆ มีตรวจมากกว่านี้เยอะมาก แต่ไม่อาจบรรยายได้หมด แต่แนะนำเลยว่า Check Houses เค้าทำงานได้ดีจริง ๆ (ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียแต่อย่างใด) โดยราคาเป็นมิตรด้วย มีการตรวจ 2 ครั้ง ครั้งแรกคือตรวจรับบ้านตามปกติ ครั้งที่ 2 หลังจากโครงการแก้ไขแล้ว สนนราคาอยู่ที่การตรวจ 2 รอบ รวม 4,500 บาท เท่านั้น (ขึ้นอยู่กับพื้นที่ใช้สอยบ้านด้วย) โดยสามารถติดต่อ Check Houses ได้ที่

แอดมินก็ตอบคำถามได้ดีมากจริง ๆ ให้รายละเอียดได้ครบ และยังมีสอบถาม Feedback ของการตรวจบ้านด้วยว่าเป็นอย่างไร แนะนำเลย Check Houses

โดยสรุปการกู้ ซื้อบ้านหลังแรก และไทม์ไลน์ ต้องเตรียมอะไรบ้าง

ซื้อบ้านหลังแรก
ไทม์ไลน์ทั้งหมด ของการซื้อบ้านหลังแรก สำหรับตัวเอง ตั้งแต่ต้นจนจบ ถ้านับตั้งแต่วันจอง ถึงวันทำสัญญา ใช้เวลาเพียง 1 เดือนเท่านั้น

ซื้อบ้านหลังแรก เรียกได้ว่าเป็นค่าใช้จ่ายใหญ่มากที่สุดในชีวิตของคนคนนึงเลยก็ว่าได้ อีกทั้งเป็นค่าใช้จ่ายในระยะยาว ดังนั้นสิ่งที่ต้องเตรียมตั้งแต่แรกเลยคือต้องเตรียมตัวว่ารายได้ที่เรามีอยู่นั้น สามารถซื้อบ้านหรือที่อยู่อาศัยในราคาเท่าไรได้บ้าง ต่อมาคือการเลือกทำเล และประเภทของบ้าน การตรวจรับบ้าน สุดท้ายคือการทำสินเชื่อบ้าน ให้เลือกสินเชื่อที่เหมาะกับเรามากที่สุด เงื่อนไขที่คิดว่าดีที่สุดในขณะนั้น

แต่ทั้งหมดที่ว่ามานี้ เป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น แต่การผ่อนจากนี้คือของจริงต่างหาก เพราะว่าบ้านเนี่ย ถ้าตัดไม้โทออก จะกลายเป็นคำว่า “บาน” หรือถ้าตัด น หนูออก จะกลายเป็นคำว่า “บ้า” เนื่องจากบ้านเนี่ยมีค่าใช้จ่ายที่ตามมานี้อีกเป็นจำนวนมาก ไหนจะค่าตกแต่ง ค่าบำรุงรักษาต่าง ๆ เป็นเรื่องของค่าใช้จ่ายทั้งนั้น สำหรับใครที่ต้องการจะมีบ้าน แนะนำให้สำรวจความต้องการของตัวเองให้ดี เลือกบ้านที่เหมาะสมกับจำนวนคนในครอบครัว ไม่มากเกินไป และไม่น้อยเกินไป และเลือกที่เหมาะสมกับงบประมาณที่ตัวเองมี อย่างน้อยใครที่จะยื่นกู้ซื้อบ้านหลังแรก ขอให้ผ่านกันทุกคนนะครับ

rabbitor.net

ที่มาบางส่วน [1]

ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้างเมื่อยื่นขอสินเชื่อบ้าน สำหรับพนักงานประจำ

สำเนาบัตรประชาชน / สำเนาทะเบียนบ้าน / สลิปเงินเดือนย้อนหลัง 6 เดือน / Statement บัญชีเงินเดือนย้อนหลัง 6 เดือน / หน้าสมุดบัญชีเงินเดือน / ใบรับรองเงินเดือน / ทวิ 50 หรือ ภงด. 90, 91 ย้อนหลัง 2 ปี (ถ้ามี) / สัญญาจะซื้อจะขาย (สำหรับการยื่นกู้เอง)

ระยะเวลาในการดำเนินการอนุมัติสินเชื่อ

สำหรับการพิจารณาสินเชื่อใช้เวลา 7-14 วันทำการ ขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคาร

ระยะเวลาในการซื้อบ้านจนกระทั่งถึงวันโอน

ถ้าเป็นบ้านสร้างเสร็จ พร้อมขาย ใช้เวลา 1 เดือนเท่านั้น หลังจากทำสัญญาจอง

ติดตาม Social Media และเว็บไซต์ในเครือได้ที่นี่
Close
💚 เลือกหัวข้อที่ต้องการอ่านได้เลย! เจอคอนเทนต์ที่ถูกใจอ่านจบแล้ว แชร์ให้ด้วยนะ💚
Close